ยุโรปยังไม่พ้นภัย แม้ Macron คว้าตำแหน่ง ปธน.ฝรั่งเศส

08 พ.ค. 2560 | 14:29 น.
Event

ผลการนับคะแนนในคืนวันเลือกตั้งที่ 7 พ.ค. (ตามเวลาฝรั่งเศส) เผยว่า Emmanuel Macron จากพรรค En Marche ผู้มีแนวคิดแบบเสรีนิยมสายกลางและสนับสนุนสหภาพยุโรป เป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 25 ของฝรั่งเศส ด้วยคะแนน 66% ต่อ 34% โดยผลการเลือกตั้งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์และผลโพลก่อนการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ชี้ว่าชาวฝรั่งเศสจำนวนมากยังต้องการอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป และคลายความกังวลต่อการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของฝรั่งเศส (Frexit)

Analysis

ค่าเงินยูโรแตะจุดสูงสุดในรอบ 7 เดือน ตอบรับชัยชนะของ Emmanuel Macron ผลการเลือกตั้งผู้นำของฝรั่งเศสที่เป็นไปตามคาดสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านค่าเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้นและส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรฝรั่งเศสและพันธบัตรเยอรมนีที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง (นักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจฝรั่งเศสมีความเสี่ยงลดลง) นับตั้งแต่ผลการเลือกตั้งในรอบแรกเมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ออกมาว่า Emmanuel Macron มีคะแนนนิยมสูงกว่า Marine Le Pen (รูปที่ 1 และ 2) ทั้งนี้ ผลตอบรับจากตลาดการเงินภายหลังผลการเลือกตั้งรอบความสุดท้ายไม่ผันผวนมากนักและตอบสนองในทางบวกเนื่องจากนักลงทุนมองว่านโยบายของ Emmanuel Macron จะเพิ่มเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจฝรั่งเศส และสหภาพยุโรปในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม การพลิกฟื้นเศรษฐกิจฝรั่งเศสด้วยนโยบายของ Emmanuel Macron ยังคงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเขาต้องคว้าเสียงข้างมากในรัฐสภาให้ได้

นโยบายต่อสหภาพยุโรป  สนับสนุนการปฏิรูปสหภาพยุโรป และมองว่าฝรั่งเศสจำเป็นต้องอยู่เป็นเสาหลักของสหภาพยุโรปต่อไป

นโยบายต่อผู้อพยพ  ฝรั่งเศสควรเป็นสถานที่ซึ่งต้อนรับผู้อพยพ โดยในช่วง 6 เดือนแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาจะจัดการกับคำร้องขอลี้ภัยทั้งหมด

นโยบายต่อความมั่นคง  ยืนยันนโยบายป้องกันฝรั่งเศสและต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย แต่ต้องไม่เป็นการทำลายสิทธิพลเมือง

นโยบายด้านเศรษฐกิจ  ลดภาษีนิติบุคคลจาก 33% ในปัจจุบันให้เหลือ 25% ลดภาษีที่อยู่อาศัย ปฏิรูปภาษีมรดก ตั้งเป้าหมายลดปริมาณค่าใช้จ่ายสาธารณะลงโดยการลดตำแหน่งงานในภาครัฐลง 120,000 ตำแหน่งและลดการใช้จ่ายของภาครัฐลง 6 หมื่นล้านยูโร ตั้งเป้าลดอัตราการว่างงานลงเหลือต่ำกว่า 7% ผ่อนปรนกฎหมายแรงงานและให้ความคุ้มครองแก่กลุ่ม self-employed

แม้ว่านโยบายและแนวทางการปฏิรูปของ Emmanuel Macron มีทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจฝรั่งเศสตลอดจนเศรษฐกิจยูโรโซน แต่อีไอซีมองว่ายังมีโอกาสสูงที่จะเกิดสภาวะการเมืองชะงักงัน (political gridlock) ในฝรั่งเศส เนื่องจาก Emmanuel Macron ยังต้องเผชิญความท้าทายในการคว้าเสียงข้างมากจากเลือกตั้งรัฐสภาฝรั่งเศสที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 และ 18 มิถุนายนนี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่า Emmanuel Macron จะไม่สามารถคว้าเสียงข้างมากมาได้ และจำเป็นต้องจัดตั้งรัฐบาลผสม ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นอุปสรรคต่อการผ่านแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ ในอนาคต และทำให้ไม่สามารถทำตามนโยบายที่ให้ไว้ในช่วงหาเสียงได้

ชัยชนะของ Emmanuel Macron เพิ่มแรงกดดันให้กับการเจรจา Brexit หนึ่งในนโยบายที่สำคัญของ Emmanuel Macron คือการปฏิรูปและสร้างความแข็งแกร่งให้กับสหภาพยุโรป โดยเขามีความเห็นว่าเงื่อนไขการเจรจา Brexit ไม่ควรเป็นไปได้โดยง่าย ไม่เช่นนั้นจะเป็นตัวอย่างให้กับประเทศสมาชิกอื่นๆได้ แนวคิดดังกล่าวเพิ่มแรงกดดันให้กับการเจรจา Brexit ที่มีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ง่ายและรวดเร็วอย่างที่ Theresa May นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรตั้งใจไว้ โดยเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา ผู้นำสมาชิกสหภาพยุโรปได้ประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวปฏิบัติหรือเงื่อนไขการเจรจากับสหราชอาณาจักรแล้ว โดยผลออกมาว่าสหภาพยุโรปเตรียมตั้งเงื่อนไขจำนวนมาก เพื่อไม่ให้สหราชอาณาจักรสามารถออกจากสหภาพยุโรปได้ด้วยต้นทุนต่ำและเลือกเงื่อนไขได้ อีกทั้งยังระบุว่าจะไม่มี Free Brexit โดยการวิเคราะห์จาก Financial Times คาดการณ์ว่าสหราชอาณาจักรอาจถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการออกจากสหภาพยุโรปมากถึง 1 แสนล้านปอนด์

Implication

ผลการเลือกตั้งช่วยคลี่คลายความกังวลต่อ Frexit ซึ่งเป็นผลบวกต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกทั้งด้านการค้าและการลงทุน ชัยชนะของ Emmanuel Macron เพิ่มมุมมองทางบวกต่อเศรษฐกิจยูโรโซนและเศรษฐกิจโลกในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ความกังวลต่อการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของฝรั่งเศส (Frexit) และกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่ลดลง ประกอบกับนโยบายและการปฏิรูปเศรษฐกิจของ Emmanuel Macron ที่มีทิศทางเป็นบวกต่อเศรษฐกิจฝรั่งเศส ซึ่งช่วยฟื้นความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจทั่วโลกที่รอความชัดเจนจากการเลือกตั้งในครั้งนี้

ในอีกด้านหนึ่ง ความเสี่ยงจากปัจจัยด้านการเมืองในยุโรปยังไม่ผ่อนคลายลงมากนัก เนื่องจากแรงกดดันต่อการเจรจา Brexit อาจรุนแรงมากขึ้น ผลจากนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของฝรั่งเศสอาจไม่เป็นไปตามคาด รวมถึงการเลือกตั้งผู้นำในเยอรมนีและอิตาลีที่กำลังจะมาถึง ปัจจัยที่กล่าวข้างต้นล้วนแล้วแต่เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร ซึ่งอาจกระทบต่อภาคการลงทุน และภาคส่งออกไทยที่มีสัดส่วนในการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวคิดเป็น 12% ของส่งออกทั้งหมด (รูปที่ 3)

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจยังไม่เร่งดำเนินมาตรการทางการเงินแบบเข้มงวด แม้เศรษฐกิจยูโรโซนมีทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้น แม้ความเสี่ยงจาก Frexit ได้จางลง แต่ปัจจัยทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเจรจา Brexit ยังคงสร้างความไม่แน่นอนให้กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน โดยอีไอซียังคงมองว่า ECB จะปรับลดวงเงินในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล (Quantitative Easing: QE) จาก 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน เป็น 4 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2018 เป็นต้นไป และอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับปกติในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2019

รูปที่1 และ 2: ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจฝรั่งเศสและสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ผลการเลือกตั้งในรอบแรก

eic05081 eic05082 ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Bloomberg

รูปที่ 3: รถยนต์และส่วนประกอบและเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นสินค้าส่งออกหลักจากไทยไปยังสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร

eic05083 ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์

ผู้เขียน : พิมพ์นิภา บัวแสง  

           ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์