3.7 หมื่นล้าน! อุ้มไมโคร SME ปลอดดอกเบี้ย

06 พ.ค. 2560 | 08:16 น.
รัฐไฟเขียวช่วยเหลือเอสเอ็มอีล็อตใหม่ วงเงิน 3.7 หมื่นล้านบาทให้ระดับรายเล็กมากกู้ไม่เกิน 2 แสนบาท ไม่มีดอกเบี้ย รายใหญ่ให้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1% เริ่มได้ปลายพ.ค.นี้ เล็งช่วยเหลือได้ไม่ตํ่ากว่า 2.5 หมื่นราย ด้านพาณิชย์เตรียม 600 ล้านบาท ตั้ง “สตาร์ตอัพ คอม เพล็กซ์”

วันที่ 6 พ.ค.60 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ สื่อในเครือสปริงกรุ๊ป รายงานว่า นายอุตตม สาวนายน  รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการประชารัฐชุดส่งเสริม SMEs Startup และ Social Enterprise ภายใต้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐทั้งนี้คณะกรรมการประชารัฐชุดดังกล่าว มีเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 67 หน่วยงาน โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีทางด้านเศรษฐกิจเป็นประธาน (5 พ.ค.60) ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งด้านมาตรการทางการเงินที่มาจากการสนับสนุนของรัฐบาล  ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ภายใต้วงเงิน 3.7 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ภายใต้กรอบวงเงินดังกล่าวจะประกอบด้วย สินเชื่อเอสเอ็มอีรายย่อยขนาดเล็กมาก  หรือเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือเป็นผู้ประกอบการรายเดียวมีการจ้างงานไม่เกิน 5 คน จะมีวงเงินสนับสนุน 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะไม่มีการคิดดอกเบี้ย  และมีระยะเวลากู้นาน 10 ปี โดยไม่ต้องชำระเงินต้น 3 ปี  ปล่อยกู้ให้ไม่เกินรายละ 2 แสนบาท ขณะที่เรื่องของหลักประกันสามารถผ่อนปรนได้  ซึ่งจะมีมาตรการเข้าไปดูแลความเหมาะสมต่อไป

อีกทั้งยังมีวงเงินอีก 3,000 ล้านบาท  สำหรับเอสเอ็มอีรายเล็กแต่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่ากลุ่มแรก  โดยปล่อยสินเชื่อให้ไม่เกินรายละ 6 แสนบาท ซึ่งจะคิดอัตราดอกเบี้ยที่ 1% คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอีในกลุ่มดังกล่าวได้ประมาณ 1.5 หมื่นราย
ขณะที่กลุ่มเอสเอ็มอีที่มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล  จะมีเงินสนับสนุนจากกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท โดยปล่อยสินเชื่อให้ไม่เกินรายละ 10 ล้านบาท  อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1% เพื่อใช้ในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร หรือพัฒนาบุคลากรในการยกระดับบริษัท
อย่างไรก็ดี หากวงเงินดังกล่าวไม่เพียงพอ ยังมีสินเชื่อโครงการ SME Transformation Loan อีกจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท โดยคิดดอกเบี้ยที่ 3% ซึ่งจากมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มนิติบุคคลได้ประมาณ 1 หมื่นราย ขณะที่เงินอีก 2,000 ล้านบาทจะเป็นสินเชื่อในการฟื้นฟูเอสเอ็มอีจาก สสว. โดยประเมินเบื้องต้นน่าจะมีเอสเอ็มอีที่ให้การช่วยเหลือได้ไม่ตํ่ากว่า 2.5 หมื่นราย

นายอุตตม กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม มองว่าการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ  จะต้องมีส่วนเสริมทางด้านอื่นที่เป็นเครื่องมือเข้าไปช่วยเหลือด้วย ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรม การช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการติดตามดูแล  รวมถึงการให้ความรู้เรื่องการตลาดสมัยใหม่ (Digital Marketing)  กระบวนการผลิตยุคใหม่ การบริหารสินค้าคงคลัง และการออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งใน  และต่างประเทศ

โดยปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมมีโครงข่ายศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอีทุกจังหวัด  มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานเอสเอ็มอีในแนวประชารัฐประจำจังหวัด โดยมีกระทรวงเป็นแกนหลักในการดำเนินการ เพื่อดูว่ามีเอสเอ็มอีกลุ่มใดที่ควรจะสนับสนุนด้วยแนวทางใด  วงเงินเท่าไร แต่ทั้งนี้ต้องขอความร่วมมือจากภาคเอกชนให้เข้ามาช่วยเหลือด้วย ซึ่งในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้การให้ความช่วยเหลือทั้งในด้านของการเงิน และการส่งเสริมสนับสนุนองค์ความรู้ให้เอสเอ็มอีจะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
ด้านนางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ากระทรวงได้รับงบจากรัฐบาลประมาณ 600 ล้านบาท ในการสร้างศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการเพื่อการค้าระหว่างประเทศอย่างครบวงจร หรือสตาร์ตอัพ คอมเพล็กซ์ โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่าง 3 กรมในกระทรวงพาณิชย์ ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่มีหน้าที่ในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ กรมการค้าภายในช่วยพัฒนาตลาดภายในประเทศ และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเน้นการพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการออกสู่ตลาดต่างประเทศ

“สตาร์ตอัพ คอมเพล็กซ์จะเป็นกลไกในการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นการสร้างแบรนด์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า รวมถึงจัดกิจกรรมการเจรจาการค้า จับคู่ธุรกิจและสร้างเครือข่ายการตลาด ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้กับสตาร์ตอัพมากขึ้น”

ด้านนางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ในส่วนของกรมอยู่ระหว่างดำเนินการในการจัดทำเว็บไซต์ฐานข้อมูลหรือ Directory เพื่อเชื่อมโยงธุรกิจสตาร์ต อัพและเอสเอ็มอีของไทย จะเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมรายชื่อนักธุรกิจสตาร์ตอัพทั่วประเทศซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการช่วยสร้างโอกาสในการจับคู่ธุรกิจระหว่างเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพของไทยเพื่อขยายโอกาสทางการตลาด คาดการจัดทำน่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้