จากจีทูจี ข้าว เรือดำน้ำ & รถไฟ ถึงดุลการค้าไทย-จีน

10 พ.ค. 2560 | 02:00 น.
มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมาให้ กองทัพเรือจัดซื้อ เรือดำน้ำหยวนคลาด เอส 26 T ( Yuan class S 26T) จากจีน 1 ลำ วงเงิน 1.35 หมื่นล้านบาทในรูปแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี โดย พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำวาระเข้าที่ประชุมด้วยตนเอง ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมาย โดยเฉพาะเรื่อง ความเหมาะสมต่อแผนการจัดซื้อที่ใช้งบประมาณสูงและมีภาระผูกพันนานถึง 7 ปี ขณะที่สภาวะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่เต็มที่ ชาวบ้านยังบ่นเรื่องปัญหาปากท้อง หาก การตัดสินใจซื้อเรือดำน้ำของรัฐบาลครั้งนี้ไม่เพียงเกี่ยวพันถึงประเด็นดังกล่าวเท่านั้น หากยังผูกโยงถึงเรื่องอื่นๆอีกด้วย

กระทรวงหลาโหม นำโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทำเรือเสนอที่ประชุมครม.เมื่อปี 2558 ก่อนครม.มีมติให้ศึกษาเพิ่มเติมก่อนที่ครม.จะอนุมัติแผนการจัดซื้อดังกล่าว (18 เมษายน )ในที่สุด เป็นการเคลื่อนไหวที่คาบเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ ไทย-จีน กำลังเจรจา โครงการรถไฟไทย-จีน และการซื้อขายข้าวแบบจีทูจีกันอย่างเข้มข้น แม้ที่ผ่านมาไม่มีตัวแทนจากฝ่ายรัฐทั้งไทย จีนออกมายอมรับว่า โครงการซื้อขาวจีทูจี กับ โครงการรถไฟไทย -จีน และแผนการจัดซื้อเรือดำน้ำเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ท่าทีของผู้นำรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า ทั้ง 3 โครงการมีความเกี่ยวข้องกัน

พล.อ.ประวิตร รองนายกฯออกมาพูดว่าสนใจซื้อเรือดำน้ำจากจีนราวเดือนพฤษภาคม (2558) เดือน มิถุนายน ถัดมา คณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ(กจด.)รายงานผลการคัดเลือกแบบ จากนั้น วันที่ 5 กันยายน ปีเดียวกัน (2558) พล.อ.ประวิตร รองนายกฯให้สัมภาษณ์หลังจากเยือนจีน (2-5 กันยายน 2558) ตอนหนึ่งว่า การเดินทางไปจีนครั้งคนได้พบกับนายกฯจีน(นายหลี่ เค่อ เฉียง ) ได้คุยกันเรื่อง รถไฟ ข้าว ยางพารา และกล้วย ซึ่งตนจะนำผลการเดินทางครั้งนี้ไปรายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะเรื่องการค้าขายพืชผลเกษตร แม้พล.อ.ประวัติ ไม่ได้กล่าวถึง”เรือดำน้ำ”ในการแถลงหลังการเยือนจีน แต่แผนการจัดซื้อที่คืบหน้ากระทั่งมีมติครม.เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมาบอกเป็นนัยๆว่าการเดินทางไปจีนหลายครั้งในช่วงปีเศษที่ผ่านมาของพล.อ.ประวิตรคงไม่ได้คุยแค่เรื่องขายข้าว ขายยาง หรือรถไฟเท่านั้น

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558 จีนโดย Cofco(รัฐวิสาหกิจนำเข้าข้าว) ได้ลงนามกับ กระทรวงพาณิชย์ ที่จะซื้อข้าว ฤดูกาลผลิตใหม่ 1 ล้านตัน(เดิมตกลงซื้อแล้ว 1 ล้านตัน) ส่งมอบงวดละ 1 แสนตัน และการยางแห่งประเทศไทย ได้ทำเอ็มโอยูกับ Sinochemที่จะซื้อขายยางอีก 2 แสนตัน

อย่างไรก็ดี เอ็นโอยู ขายข้าวขายยางกับจีน เงียบไปพักใหญ่ ตัวแทนฝ่ายจีนเลื่อนการเจรจาซื้อข้าวจากไทยโดยอ้างความไม่พร้อม ไล่เลี่ยกับ โครงการรถไฟไทยจีนไม่คืบหน้า จากสาเหตุไทย-จีนไม่สามารถหาข้อสรุปเรื่องรูปแบบการร่วมทุน และการเดินทางเยือนจีนครั้งที่ 4 ในรอบ 2 ปี (12-13 ธันวาคม 2559) พล.อ.ประวิตร รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า มีกำหนดพบ นายกรัฐมนตรีจีน และจะมีการพูดคุยเรื่องสินค้าเกษตรที่ผ่านมายังไม่คืบหน้าเท่าที่ควรรวมทั้งเรื่องรถไฟไทย-จีน

สำหรับความคืบหน้าเอ็มโอยูข้าวไทย-จีน จีนสั่งซื้อข้าวจากไทย งวดแรก (แสนตัน) ไปแล้ว เมื่อเดือน ตุลาคมปีที่ผ่านมา หรือ เกือบ 1 ปีนับแต่สองฝ่ายลงนามร่วมกัน สถานการณ์ล่าสุดนางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ บอกกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จะเร่งส่งมอบแสนตันที่ 4 ภายในเดือนมิถุนายนนี้ โดยการซื้อ-ขายจะเจรจาเป็นคราวๆไปเนื่องจากราคาข้าวแต่ละช่วงไม่เท่ากัน และเธอยอมรับว่าไทยถูกกดราคา(ข้าว)

หากมองเรื่องข้างต้นในเชิงการค้า มูลค่าข้าวสารที่จีนจะซื้อจากไทย ถ้าเฉลี่ยจากราคาขายข้าว 5% งวดแรกกับงวดที่สาม (399+386 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน) เฉลี่ยเท่ากับ 392.5 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน หรือ 13,502 บาทต่อตัน( อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 3 พฤษภาคม ) ข้าว 1 ล้านตันที่จีนจะซื้อจากไทยมีมูลค่าราว 1.352 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับราคา เรือดำน้ำหยวนคลาส 1.35 หมื่นล้านบาท โดยบังเอิญ

ตามฐานข้อมูลข้างต้น หากพล.อ.ประวิตร รองนายกฯ สามารถพูดคุยกับจีน ให้สั่งซื้อข้าวจากไทยล่วงหน้าเพิ่มอีก 1 ล้านตัน (ตามสัดส่วนที่ไทยจะต้องซื้อเรือดำน้ำหยวนคลาสอีก 1 ลำ) นอกจากสร้างเสถียรภาพ ราคาข้าวในประเทศแล้ว ยังช่วยคลี่คลายข้อสงสัย ของสังคมว่าทำไม? มติซื้อเรือดำน้ำจึงป็นเรื่องลับมากฉบับมุมแดง ทำไมต้องต้องประชุมตอน พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีไม่อยู่ ? ทำไมต้องเป็นเรือดำน้ำเมดอินไชน่า? หากจีนยังไม่พร้อมซื้อข้าวจากไทยเพิ่ม รัฐบาลควรต่อรองเสนอสินค้าอื่นให้จีนพิจารณาเพิ่มเติม

อย่าลืมว่าปัจจุบันไทยขาดดุลการค้าจีน และขาดดุลการค้าต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ณ สิ้นปี 2559 ไทย ขาดดุลการค้าจีน 6 แสนล้านบาทโดยประมาณ โดยไทยนำเข้าจากจีนมูลค่า 1.403 ล้านล้านบาท และส่งออกไปจีน 8 แสนล้านบาท ปีนี้หลังไทยสั่งซื้อ เรือดำน้ำหยวนคลาส 1 ลำ รวมทั้งรถถังชุดใหญ่ที่สั่งมาประจำการไปก่อนหน้านี้ แล้ว ตัวเลขขาดดุลการค้าของไทยต่อจีนย่อมเพิ่มขึ้น มิติด้านความมั่นทะเลไทยต้องมีเรือดำน้ำไว้ปกป้องอธิปไตย เช่นเดียวกับมิติทางเศรษฐกิจ ขาดดุลการค้าต้องได้รับการดูแลให้สมดุลเช่นกัน tp6-3259-a-407x420

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,259 วันที่ 7 - 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560