ทางออกนอกตำรา : จาก “อิตาเลียนไทย” สู่ชีวิตที่ไร้ค่าของคนไทย

05 พ.ค. 2560 | 12:58 น.
ทางออกนอกตำรา

โดย : บากบั่น บุญเลิศ

จาก “อิตาเลียนไทย” สู่ชีวิตที่ไร้ค่าของคนไทย

ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ของคนกรุงในขณะนี้คือ การตั้งคำถามตัวโตในกรณีอุบัติเหตุจากการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ของบริษัท อิตาเลียนไทย ดิเวลล๊อปเม้นท์ (ITD) จนมีผู้เสียชีวิต 3 คน ที่หน่วยงานของรัฐออกมาประกาศว่าจะต้องมีคนรับผิดและมีมาตรการบังคับให้บริษัทรับเหมาก่อสร้างรายนี้ มีมาตรฐานในการทำงานที่ดีกว่าปัจจุบัน ถึงขนาดออกมาขู่ว่าจะมีการขึ้นแบล็กลิสต์ในกิจการของรัฐ

แต่เชื่อหรือไม่ว่า ผู้คนต่างเชื่อกันว่า เรื่องจะเงียบหายไปกับสายลม…

แม้นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ขู่ว่าจะใช้อำนาจในการสั่งปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติงาน หากไม่ทำจะสั่งระงับการทำงานของบริษัททันที

เพราะเหตุการณ์แบบนี้มิใช่เพิ่งเกิดขึ้น เฉพาะการก่อสร้างในช่วงเส้นทางนี้เคยเกิดเหตุการณ์มาแล้ว 6 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 8 ราย แต่ละครั้งสิ่งที่หน่วยงานรัฐในฐานะผู้ว่าจ้าง ทำได้เพียงแค่เปรียบเทียบปรับ แต่ครั้งนี้มีเสียงขู่ฟ่อดว่า จะต้องดำเนินคดีทางอาญา ในข้อหาฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554

ขณะที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้กำชับหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับโครงการก่อ สร้างโดยเฉพาะการก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสายทางให้เพิ่มความเข้มงวดมาตรฐานความปลอดภัย ของวิศวกรควบคุมงาน สำหรับการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ขณะนี้ได้สั่งพักการก่อสร้างจุดที่เกิด เพื่อทบทวนมาตรฐานความปลอดภัยให้เข้มงวดยิ่งขึ้น รวมถึงการสอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริง

ผู้บริหารของ รฟท.ที่เป็นคู่สัญญาบอกว่า ได้แจ้งให้ ITD หยุดการก่อสร้างเฉพาะงานติดตั้งชิ้นส่วนโครงสร้างทางวิ่งรถไฟยกระดับ จนกว่าจะได้ข้อสรุปถึงสาเหตุของอุบัติเหตุ พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไข เพื่อความปลอดภัยในการก่อสร้างและไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นอีก….มาตรการของทางการไทยมีเพียงแค่นี้จริงๆ

แต่สำหรับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) กลับแสดงจุดยืนชัดว่ากำลังเตรียมขึ้นบัญชีดำ บริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD ซึ่งมื่อฐานเศรษฐกิจสอบถาม นายมาซาโตะ โคอินูมะ ผู้แทนอาวุโสของไจก้า ประจำประเทศไทย ได้ความว่า ในกรณีที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งไม่สามารถทำได้ตามเงื่อนไขด้านความปลอดภัยก็อาจจะมีบทลงโทษ เช่น อาจจะไม่สามารถยื่นขอประมูลโครงการใหม่ๆได้ในช่วงเวลาที่กำหนด

จะเห็นได้ว่า มาตรฐานการปฏิบัติงานของผู้รับเหมาไทยยังห่างไกลมืออาชีพหลายขุมทีเดียว แม้ว่า พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 จะกำหนดความรับผิดรับชอบของบริษัทไว้อย่างรัดกุม ชัดเจนแต่ดูเหมือนการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทย กลายเป็นรูโหว่ ที่ใครๆ ต่างเพิกเฉยกับคุณภาพชีวิตของมนุษย์

ราชการไทยไม่สนใจ ตายไปกี่คนก็ช่างหัวมัน….

เมื่อพึ่งพาราชการไม่ได้ ความตายของคนไทยจึงหันไปพึ่งองค์กรภายนอก เจ้าของเงินกู้เพื่อก่อสร้างโครงการที่ได้แสดงความกังวลถึงมาตรฐานความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง

ความจริงแล้วในการก่อสร้างงานขนาดใหญ่มีข้อกำหนดชัดเจนว่า ในพื้นที่ก่อสร้างจะต้องมีรั้วกั้นที่มิดชิด ต้องมีมาตรการป้องกันการหล่นของวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ มีเงื่นไขการติดตั้งอุปกรณ์ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน แต่มีการละเลย เพิกเฉย ไม่มีการดำเนินการ

ปัญหาที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ น่าจะทำให้หน่วยงานของไทยต้องเข้าไปกวดขันในการทำงาน และหามาตรการจัดการกับบรรดาผู้รับเหมาให้ปฏัติที่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

อย่าลืมว่า รัฐบาลกำลังเปิดประมูลโครงการรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูงกว่า 1.4 ล้านล้านบาท

ดังนั้น ควรใช้โอกาสนี้ มาสร้างแนวปฏิบัติที่เข้มงวดกับผู้รับจ้างงานของภาครัฐให้มากขึ้น

ชีวิตของคนนั้น มีค่ามากกว่าสิ่งใดในโลก รัฐบาล หน่วยงานที่เป็นผู้ว่าจ้าง จะต้องกำหนดเงื่อนไขในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินไว้ในเงื่อนไขการว่าจ้างด้วย

ราชการไทยใช้งบประมาณไปจำนวนมากในการไปดูงานก่อสร้างโครงการต่างๆในต่างประเทศ แต่ไม่เคยนำมาเป็นกรอบกติกาขององค์กร เพื่อรักษาชีวิตของคนแม้แต่น้อย

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น….

 

คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา / หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3259 ระหว่างวันที่ 7-10 พ.ค.2560