‘แอร์เอเชียกรุ๊ป’ต่อจิกซอว์ บินยุโรป-ผุดโลว์คอสต์เวียดนาม

08 พ.ค. 2560 | 11:00 น.
กลุ่มแอร์เอเชียวันนี้ จัดว่าเป็นสายการบินต้นทุนต่ำตัวจริงของอาเซียน ทั้งการบินระยะใกล้ ผ่านเครือข่ายของแอร์เอเชีย มาเลเซีย ,ไทย แอร์เอเชีย,แอร์เอเชีย อินโดนีเซีย,แอร์เอเชีย ฟิลิปปินส์, แอร์เอเชีย อินเดีย,แอร์เอเชีย เจแปน และบินระยะกลาง-ไกล ในนาม แอร์เอเชีย เอ็กซ์ มาเลเซีย,ไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ และแอร์เอเชีย เอ็กซ์ อินโดนีเซีย

รวม 9 สายการบิน เครือข่ายรวมกว่า 128 เดสติเนชั่น 267 เส้นทางบิน มีฝูงบินรวม 204 ลำ ซึ่งที่ผ่านมาแม้กลุ่มแอร์เอเชียจะให้บริการผู้โดยสารไปแล้วมากกว่า 400 ล้านคน แต่สายการบินก็ยังมีทิศทางการขยายธุรกิจต่อเนื่อง อ่านได้จากสัมภาษณ์กลุ่ม นายโทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มแอร์เอเชีย

  รอโอกาสสยายปีกบินยุโรป
ไม่เพียงแอร์เอเชีย เอ็กซ์มาเลเซีย มีแผนจะเปิดบินเข้าฮาวาย (สหรัฐอเมริกา) ในเดือนมิถุนายนนี้เท่านั้น สเต็ปต่อไปเฟอร์นานเดส เปิดใจว่า เมื่อมีเครื่องบินรุ่นใหม่ที่เหมาะสมออกมา จะให้ตลาดสายการบินต้นทุนตํ่าระยะไกลมีการแข่งขันกันมากขึ้น แอร์เอเชียเองก็ต้องการขยายเส้นทางบินไปในระยะไกล ยุโรปเป็นเป้าหมายที่อยากไปและคิดว่ามีความสำคัญมาก

“เราจะไปยุโรปแน่ๆ แต่ขึ้นอยู่กับเวลา ตอนที่เรากำลังจะเปิดเส้นทางบินยุโรป เกิดเหตุการณ์ที่ยูเครนเสียก่อน ทำให้ต้องใช้เวลาบินเพิ่มขึ้น เครื่องบินของเราจึงบินไม่ได้ เมื่อใดที่เราได้เครื่องบินที่เหมาะสมมา เราจะไปยุโรป”

ส่วนจุดหมายในยุโรปที่จะเลือกบินไปนั้น เขาย้ำว่าผมชอบทำในสิ่งที่แตกต่าง ดังนั้นอาจจะไม่ใช่เมืองใหญ่ๆ แต่เป็นสถานที่น่าสนใจที่ผู้คนสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวยังแหล่งท่องเที่ยวบริเวณใกล้เคียงได้ง่าย

“ยังไม่มีอะไรแน่นอน แต่ที่สำคัญที่สุดคือต้องมีโครงสร้างต้นทุนที่เหมาะสม เพราะถ้ามันไม่น่าตื่นเต้น ก็ไม่มีเหตุผลที่เราจะบินไปที่นั่น ไปใช้สายการบินฟูลเซอร์วิสอื่นๆ ก็ได้”

 จ่อเปิดโลว์คอสต์ในเวียดนาม
ส่วนการขยายธุรกิจในอาเซียน เขามองว่า ปัจจุบัน แอร์เอเชีย กรุ๊ป เป็นสายการบินโลว์คอสต์ขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีเครือข่ายการบินเชื่อมโยงครอบคลุมจุดบินต่างๆ ในภูมิภาคนี้ โดย 60% ของเส้นทางบินเป็นเส้นทางที่ไม่เคยมีการเปิดบินมาก่อน อาเซียนกลายมาเป็นเดสติเนชัน ที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาสำรวจสถานที่ต่างๆ อย่างลึกซึ้งมากขึ้น ไม่ใช่แค่บาหลีหรือกรุงเทพเหมือนในอดีต และเป็นเดสติเนชันที่น่าดึงดูดใจสำหรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ

ทั้งเวียดนามกำลังจะเป็นประเทศล่าสุดที่แอร์เอเชีย เข้าไปร่วมทุนเปิดสายการบิน ซึ่งจะทำให้เครือข่ายของแอร์เอเชียในอาเซียน มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้นในอนาคต “สำหรับเราเวียดนามและเมียนมาเป็นตลาดใหญ่ในอาเซียนตลาดสุดท้ายที่ยังไม่ได้เข้าไป เราคิดว่าเวียดนามมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวอย่างมาก มีชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัวและต้องการเดินทางท่องเที่ยว เราเอาเครือข่ายของเราเข้าไปเชื่อมโยงกับในเวียดนาม”

 จี้ปลดล็อคคุมต่างชาติถือหุ้น
ขณะเดียวกันการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี แม้ว่าในเวลานี้จะยังไม่สร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจของแอร์เอเชียมากนัก แต่ผมเชื่อว่าเออีซีจะเป็นแพลตฟอร์มที่ดีสำหรับการผลักดันเรื่องต่างๆ โดยผมกำลังพยายามผลักดันให้เกิดอาเซียนวีซ่า เพราะมองว่าระบบวีซ่าเดียวทั่วอาเซียนจะเป็นประโยชน์ และสายการบินโลว์คอสต์ ช่วยทำให้อาเซียนถูกมองว่าเป็นเดสติเนชันเดียวกันแล้ว

อีกทั้งยิ่งอาเซียน เปิดเสรีเท่าใด ยิ่งเกิดผลดีเท่านั้น และเชื่อว่าประโยชน์ของการเชื่อมโยงระหว่างกันจะมีมากกว่าการกีดกันทางการค้า แม้ว่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาอาเซียนจะเปิดเสรีทางการบินมากขึ้นอย่างมาก และเดินมาถูกทางแล้ว แต่หนทางยังอีกไกลกว่าที่จะมีความเสรีได้เหมือนกับในยุโรป โดยมองว่าขั้นต่อไปคือเรื่องของการแก้ปัญหาเรื่องการจำกัดการถือหุ้น ที่หลายประเทศยังเปิดให้ต่างชาติถือหุ้นได้เพียง 49% เชื่อว่าการเปิดกว้างจะเป็นประโยชน์ต่อสายการบินของอาเซียน นอกจากการผลักดันเรื่องกฎหมายการถือหุ้น ก็มองเรื่องการสร้างมาตรฐานเดียวกันภายในอาเซียน เหมือนเช่น FAA ในอเมริกา หรือ EASA ในยุโรป

ขณะเดียวกัน แอร์เอเชียจะเดินหน้ารักษาระดับต้นทุนให้ต่ำลง โดยข้อมูลและเทคโนโลยีมีบทบาทอย่างยิ่งในการช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน อย่างไรก็ดี มีความกังวลต่อปัจจัยภายนอก อาทิ สนามบินที่เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดต้นทุน โดยสนามบินไม่พยายามรักษาต้นทุนให้อยู่ในระดับต่ำและส่งผ่านต้นทุนเหล่านั้นมายังสายการบินและผู้บริโภค

รวมถึงรัฐบาลที่คิดว่าภาคการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่เก็บภาษีได้ง่าย ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานก็ต้องสร้างให้เหมาะสมกับความต้องการของสายการบิน อย่างสายการบินโลว์คอสต์ ก็มีความต้องการไม่เหมือนสายการบินฟูลเซอร์วิส นายเฟอร์นานเดส ให้ความเห็นทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,259 วันที่ 7 - 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560