ป.ป.ช.ปั้นยุทธศาสตร์ระยะ 3 มุ่งคดีเสียหายระดับชาติ-ปราบให้กลัว

08 พ.ค. 2560 | 03:00 น.
จากสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยในห้วงระยะเวลากว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาจากประเด็นข้อเรียกร้องหรือประเด็นการชุมนุมประท้วงของประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่มีต่อทุกรัฐบาลที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายต่างมีข้อเรียกร้องที่สอดคล้องร่วมกันประการหนึ่งก็คือ“การต่อต้านทุจริตของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐ” เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ดังนั้น ป.ป.ช.จึงได้กำหนดให้มียุทธศาสตร์ศาสตร์การนำเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านทุจริตไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมผ่านยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่ 3(พ.ศ.2560-2564)

 นำแผนสู่การปฏิบัติ
การดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธานคณะกรรมการได้ฉายภาพอนาคตให้ประชาชนและสังคมมีการตื่นตัวต่อการทุจริตมากขึ้น และจะทำให้เกรงกลัวที่จะกระทำผิดมากขึ้น โดยผ่านงานที่จะต้องเน้นเรื่องที่สำคัญเป็นเรื่องใหญ่ และสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ เช่น นำคนผิดมาลงโทษให้ได้เพื่อให้สังคมได้เห็นประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย และมีความรวดเร็วในการไต่สวน มีกรอบระยะเวลาชัดเจนในการทำงานทุกคดี

"ก่อนหน้านั้นคดีต่างๆ ไม่มีกรอบระยะเวลาชัดเจน เมื่อเร็วๆนี้ ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีการอนุมัติ "ระเบียบว่าด้วยการรวบรวมพยานหลักฐานและการแสวงหาข้อเท็จจริง ปี 2560"ซึ่งจะทำให้ผู้บังคับบัญชาต้องใส่ใจและต้องไปดูแลคดีให้มีความคืบหน้า ชัดเจนเพราะมีกรอบระยะเวลา หากทำไม่ได้ผู้ใต้บังคับบัญชาจะมีการขยายระยะเวลาจะต้องส่งเรื่องสู่ระดับผู้บังคับบัญชา หรือบางเรื่องต้องส่งมาที่คณะกรรมการป.ป.ช.เพื่อขอขยายระยะเวลา ดังนั้นต่อไปนี้ผมเชื่อว่าเรื่องการแสวงหาหลักฐานจะรวดเร็วขึ้นที่สำคัญตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เรื่องไม่ใหญ่มากจะให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมาย และป.ป.ช.ก็แค่กำกับและดูแลเท่านั้น"พล.ต.อ.วัชรพล ระบุ

[caption id="attachment_146630" align="aligncenter" width="503"] ป.ป.ช.ปั้นยุทธศาสตร์ระยะ3 มุ่งคดีเสียหายระดับชาติ-ปราบให้กลัว ป.ป.ช.ปั้นยุทธศาสตร์ระยะ3 มุ่งคดีเสียหายระดับชาติ-ปราบให้กลัว[/caption]

อย่างไรก็ดีในขณะนี้ก็ต้องมีการปรับโครงสร้างตาม ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่ .. พ.ศ. ….คาดว่าจะมีการปรับแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือนข้างหน้า และต้องผ่านการลงมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีก 2 เดือนข้างหน้า คาดว่าในภาพรวมอาจใช้เวลาประมาณ 1 ปี จึงมีกฎหมายที่ชัดเจนออกมา

สำหรับเรื่องที่จะมีการปรับปรุง อาทิ ลดบทบาทของสำนักการไต่สวนบางสำนักลงเน้นตรวจสอบนักการเมือง หรือเรื่องท้องถิ่น โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับที่ดิน หรือทรัพยากรธรรมชาติ และคดีเกี่ยวกับร่ำรวยผิดปกติ ที่เกิดความเสียหายมาก เฉลี่ยแต่ละปีที่ยึดทรัพย์ได้เป็นพันล้านบาท และต้องติดตามเอาทรัพย์สินเงินทองที่เจ้าหน้าที่รัฐทุจริตกลับคืนสู่ประเทศ โดยจะใช้วิธีการเทียบโอน 200 ตำแหน่งเข้ามาเสริมทีม

 ทุจริตรุนแรง-ซับซ้อน
ปัญหาการทุจริตต่างๆ จะเห็นว่าทวีความรุนแรง ซับซ้อน และยากต่อการตรวจสอบมากขึ้น ทำให้การแสวงหาข้อเท็จจริงทำได้อย่างล่าช้าและยากลำบากมายิ่งขึ้น ดังนั้นจะเห็นว่า ทาง ป.ป.ช.มีการปรับปรุงกฎหมาย เพิ่มบุคลากรที่มีความถนัดเฉพาะด้าน เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นมุ่งทำให้ผู้กระทำความผิดได้รับการดำเนินคดีและลงโทษอย่างรวดเร็ว และเป็นรูปธรรมเพื่อให้สังคมเกิดความเกรงกลัวต่อการทุจริต อาทิ โครงการรับจำนำข้าว และกรณีสินบนข้ามชาติ กรณีอดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นต้น

ส่วนความคืบหน้าคดีต่างๆ ที่จะมีการชี้มูลความผิดในเร็วๆ นี้ อาทิ คดีเรียกรับสินบนโรยส์รอยซ์ จากอังกฤษคดีติดสินบนกรมศุลกากร หลีกเลี่ยงภาษีนำเข้ารถหรูและคดีบริษัท พีทีที กรีนเอเนอร์ยี่ จ่ายสินบนจัดซื้อที่ดินปลูกปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซียโดยมิชอบ เป็นต้น

จะเห็นการทำงานว่ามีการจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของการปราบปรามการทุจริตตามลำดับความเสียหาย ความเร่งด่วน เพื่อให้การปราบปรามการทุจริตมีทิศทางในการดำเนินงานที่ชัดเจนต่างจากในอดีต ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ ที่ได้มอบนโยบายไว้ กำหนดวิสัยทัศน์ "ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต"

  ปฏิรูปป้องกันและปราบปราม
ในแต่ละปีมีเรื่องส่งให้ ป.ป.ช.แสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเฉลี่ย 4,000 เรื่องทั้งบัตรสนเท่ห์ และมีคนกล่าวหา ต่อไปจะตั้งเป้าไต่สวนปีละ 1,000 เรื่อง ปัจจุบันมีบุคลากรทั้งประเทศ 2,300 คน เป็นพนักงานไต่สวน 820 คน ส่วนใหญ่ผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นนักการเมืองท้องถิ่นจำนวนมากโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวย้ำถึงรัฐธรรมนูญใหม่ ปี 2560 ว่า ยังคงให้ ป.ป.ช.มีอิสระในการวินิจฉัย การไต่สวนเรื่องที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติ20 ปีของรัฐบาล ที่ป.ป.ช.เข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการกรณีที่มีการปรับเปลี่ยนหรืออะไรต่างๆ จะเห็นว่างานของ ป.ป.ช.จะเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้นจะต้องมาเน้นคุณภาพเน้นเรื่องใหญ่ที่สังคมให้ความสนใจที่ผ่านมา ป.ป.ช.ถูกตั้งคำถามจากสังคมและภาคประชาชนในเรื่องของความล่าช้าในการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดตามกฎหมายดังนั้นจึงเป็นที่มาของ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่ .. พ.ศ.....บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดรวดเร็วสมกับความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

"เรื่องใหญ่ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่มีอิทธิพลทั้งนั้น ผมไม่กลัวเพราะการทำงานของ ป.ป.ช.ทำงานในรูปแบบคณะกรรมการ 9 คน และอาชีพเดิมผมก็เป็นอาชีพตำรวจอยู่แล้ว มีหน้าที่อย่างนี้อยู่แล้ว สิ่งที่จะยืนยันก็คือ ป.ป.ช.ต้องเป็นมืออาชีพในการที่จะดำเนินการกับใคร ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานและข้อกฎหมาย เพราะกระทบสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา ถ้าไม่มีหลักฐานก็ต้องยกประโยชน์ ไม่กลั่นแกล้งใคร ที่สำคัญต้องมีคุณธรรม ไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อไปกลั่นแกล้งใคร ที่สำคัญถ้าทำผิดเองถูกลงโทษ 2 เท่า" ประธาน ป.ป.ช.ระบุ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,259 วันที่ 7 - 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560