‘กฟผ.’จ่อนำเข้า LNG ประเดิมล็อกแรกปี 66

08 พ.ค. 2560 | 04:00 น.
กฟผ.เตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาแผนลงทุน FSRU 5 ล้านตัน พร้อมสรุปเสนอ "อนันตพร" ภายในปี 2561 เล็งนำเข้าแอลเอ็นจีล็อตแรกภายในปี 2566 พร้อมสั่ง กฟผ.อินเตอร์ฯลุยลงทุนโครงการพลังงานทดแทนต่างประเทศเพิ่ม
หลังจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ลงทุนโครงการคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ในรูปแบบเรือลอยน้ำ(Floating Storage Regisification Unit : FSRU) ขนาด 5 ล้านตัน เพื่อใช้ป้อนโรงไฟฟ้าพระนครใต้และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ล่าสุด กฟผ. เตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาแผนลงทุน รวมทั้งการจัดหาแอลเอ็นจีให้แล้วเสร็จ ก่อนเสนอ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในปี 2561

นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กฟผ. เตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาโครงการ FSRU ขนาด 5 ล้านตัน ทั้งพื้นที่ตั้งและเส้นทางการวางท่อส่งก๊าซฯเพื่อเชื่อมต่อกับโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ซึ่งจะเป็นจุดรับก๊าซฯ และต่อท่อก๊าซฯมาใช้ยังโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ รวมทั้งการจัดหาแอลเอ็นจี โดยจะสรุปและเสนอไปยังกระทรวงพลังงาน ภายในปี 2561 และจะเริ่มนำเข้าแอลเอ็นจีล็อตแรกในปี 2566
โดยการจัดหาแอลเอ็นจีเพื่อใช้สำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ไม่ได้แข่งขันกับเอกชนรายอื่นแต่อย่างใด รวมทั้งเป็นไปตามหลักเกณฑ์เปิดให้บุคคลที่ 3 เข้าใช้ (Third Party Access) ส่วนการการลงทุนหรือเปิดให้เอกชนรายอื่นร่วมทุนหรือไม่นั้น จะต้องรอความชัดเจนของพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 (พีพีพี)

ทั้งนี้ ตามแผนของ กฟผ. จะศึกษาแนวการวางท่อส่งก๊าซ จากเรือ FSRU ไว้ 4 เส้นทางวางท่อก๊าซ ซึ่งอยู่ในทะเลอ่าวไทยมาขึ้นยังฝั่งและศึกษา 3 เส้นทางบนบกเพื่อต่อท่อมายังโรงไฟฟ้าพระนครใต้ จังหวัดสมุทรปราการ โดยโรงไฟฟ้าพระนครใต้มีความต้องการใช้แอลเอ็นจีประมาณ 3 ล้านตันต่อปี ดังนั้น จึงต้องส่งอีก 2 ล้านตันต่อปี ไปโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ

สำหรับการผลิตไฟฟ้าของประเทศ มีกำลังผลิตติดตั้ง 4.1 หมื่นเมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 7% เป็นกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าของ กฟผ. 1.6 หมื่นเมกะวัตต์ คิดเป็น 39.43% ของระบบ กำลังผลิตจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านรวม 2.5 หมื่นเมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 60.57% ของระบบ

นายกรศิษฏ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการลงทุนด้านพลังงานทดแทน ตามแผน กฟผ. ตั้งเป้าไว้ที่ 2 พันเมกะวัตต์ ซึ่งจะต้องมีการรวมแผนพัฒนาพลังงานทดแทนของ กฟผ.เข้าไปอยู่ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ (พีดีพี 2015) เพื่อให้ กฟผ.สามารถที่จะดำเนินการลงทุนพลังงานทดแทนได้ตามแผน โดยปัจจุบันแผนพลังงานทดแทนของ กฟผ. อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดโครงการที่ชัดเจน จากนั้นจะเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต่อไป
นอกจากนี้ กฟผ. ยังสั่งการให้บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (กฟผ.อินเตอร์ฯ) ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในต่างประเทศ ซึ่งในส่วนนี้จะไม่ถูกรวมในเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของ กฟผ. ที่ 2 พันเมกะวัตต์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,259 วันที่ 7 - 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560