23ปีสะพานไทย-ลาว เชื่อมการค้า-เศรษฐกิจเออีซี

07 พ.ค. 2560 | 07:00 น.
เมื่อ 8 เมษายน 2537 ถือว่าเป็นวันที่ประวัติศาสตร์ชาติไทย-ลาว หน้าหนึ่งที่จะต้องบันทึกลงเอาไว้ เมื่อมีการเปิดสะพานมิตรภาพไทย – ลาว หนองคาย- เวียงจันทน์ เหนือแม่น้ำโขงที่เป็นแม่น้ำระหว่างชาติ ที่แบ่ง 2 ชนชาติที่มีภาษาพูด ประเพณีวัฒนธรรม ที่เกือบเหมือนกันทุกอย่างออกเป็น 2 ฝากฝั่ง จุดประกายการเชื่อมความสัมพันธ์ด้านสังคม การคมนาคมขนส่ง การค้าชายแดน ระหว่าง 2 ประเทศ และขยายการพัฒนาเศรษฐกิจไปยังประเทศใกล้เคียง กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจหรือ เออีซี

 เชื่อมหนองคาย-เวียงจันทน์
สำหรับสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 1 หนองคาย-เวียงจันทน์นั้นถือว่าเป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งแรกระหว่างประเทศไทย-ประเทศ สปป.ลาว ในบริเวณแม่น้ำโขงตอนล่าง ที่เกิดมาจากแนวคิดของทั้ง 2 ประเทศในประเด็นของความร่วมมือกันในด้านหลักคือ การค้า การลงทุน ด้านเศรษฐกิจ ของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง หรือ กลุ่มประเทศ GMS และตามพันธกรณีระหว่างประเทศไทย-ออสเตรเลีย-สปป.ลาว ซึ่งในส่วนของแม่น้ำโขงไหลผ่านประเทศไทย-ประเทศ สปป.ลาว จากจังหวัดเชียงราย-จังหวัดอุดอุบลราชธานีระยะทางกว่า 1200 ก.ม. ยังไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำโขงเลสักแห่ง จึงเป็นที่ของโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 หนองคาย-เวียงจันทน์สะพานข้ามแม่น้ำโขง ไทย-ลาว แห่งที่ 1 เชื่อมต่อ จังหวัดหนองคาย-ท่าเดื่อ ที่บ้านท่านาแล้ง แขวงนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ซึ่งอยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ประมาณ 20 กิโลเมตร ตัวสะพานมีความยาว 1,170 เมตร มีทางรถ 2 ช่องจราจร และรถไฟรางเดี่ยวกว้าง 1 เมตร ตั้งอยู่กึ่งกลาง ใช้งบประมาณก่อสร้าง 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรเลีย ใช้ระยะเวลาก่อสร้างระหว่างเดือนตุลาคม 2534 - เดือนเมษายน 2527

 เกิดสะพานแห‹งที่ 2-4
หลังจากนั้น ก็เกิดโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 มุกดาหาร-สะหวันเขต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงของธนาคารการพัฒนาแห่งเอเชีย ตัวสะพานมีความยาวทั้งหมด 1600 เมตร มีความกว้าง 12 เมตร และมีช่องการจราจร 2 ช่อง มูลค่าการก่อสร้างประมาณ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแหล่งทุนในการก่อสร้างเป็นเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำจากรัฐบาลญี่ปุ่น ให้กับรัฐบาลลาว 4011 ล้านเยน และให้กับรัฐบาลไทย 4079 ล้านเยน ใช้เวลาก่อสร้างตั้งแต่เดือนธันวาคม 2546 - เดือนธันวาคม2549

สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 นครพนม-คำม่วน ควบคุมการก่อสร้างโดยสำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวงและบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างใช้งบประมาณก่อสร้างจากรัฐบาลไทยทั้งสิ้น 1,723 ล้านบาท แล้วเสร็จในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 เป็นเส้นทางการคมนาคมขนส่งด้านการค้า และการท่องเที่ยวเชื่อมโยงจากประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม และภาคใต้ของประเทศจีน มีความยาวรวม 780 เมตร มีการช่องจราจร 2 ช่องเพื่อเป็นการรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558

สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชียงของ-บ่อแก้ว เป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขง เชื่อมต่ออำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กับประเทศลาวที่ เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ระยะทาง 2.48 กิโลเมตร รูปแบบของสะพานเป็นคอนกรีตรูปกล่อง เป็นสะพานขนาด 2 ช่องทาง นอกจากสะพานแล้วยังมีโครงการก่อสร้างถนนไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตรเข้าในเขตเมืองห้วยทราย ซึ่งเป็นถนนลาดยางขนาดสองเลน รวมทั้งมีการก่อสร้างด่านตรวจคนเข้าเมืองด้วยสถาปัตยกรรมแบบล้านช้าง เป็นการเชื่อมต่อกับเส้นทางR3A ที่เชื่อมต่อระหว่างจีน – ลาว –ไทย งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 1,624 ล้านบาท โดยการสมทบทุนระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนโดยได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2556

นอกจากนี้แล้วก็ยังมีโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 5 บึงกาฬ-บอลิคำไซ ล่าสุดมีความก้าวหน้าโครงการไปมากแล้ว หลังจากที่ ประเทศ สปป.ลาว สามารถหาแหล่งเงินทุน ที่หลายฝ่ายคาดว่าน่าจะเป็นประเทศจีนแลกกับสิทธิ์ประโยชน์โครงการก่อสร้างเมืองใหม่ โครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง โครงการเส้นทางมอเตอร์เวย์สายเวียงจันทน์-เวียดนาม ล่าสุด ยังมีแนวความคิดโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 6 อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี – เมืองจะคอนเพ็ง แขวงสาละวัน ซึ่งจะเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจผ่านประเทศลาว ไปที่เมืองดานัง ระยะทางเพียง 137 กม. เท่านั้น และจะสามารถขึ้นไปทางจีนได้ด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,259 วันที่ 7 - 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560