ฟาร์มแปดริ้วบุกเชียงใหม่เปิดตลาดปลากะพงขาว

06 พ.ค. 2560 | 08:30 น.
ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงปลากะพงขาวเมืองแปดริ้ว จับมือผู้ประกอบการและผู้บริโภคจังหวัดเชียงใหม่เปิดตลาดปลากะพง ขาวรอบแรก 300 กิโลกรัม ตั้งเป้าเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2-3 เท่า

นางพจนีย์ รักกลิ่น ประมงจังหวัดฉะเชิงเทรา สำนักงานประมงจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า จังหวัดฉะเชิงเทราหรือที่เรียกติดปากว่าเมืองแปดริ้ว สนับสนุนโครงการฟาร์มเลี้ยงปลากะพงให้เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี กิจกรรมสนับสนุนการทำข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อให้มีแหล่งผลิตปลากะพงขาวที่มีความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค สร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงและสร้างโอกาสในการจับคู่ทางธุรกิจ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในการผลิตสามารถตรวจสอบย้อนหลับตลอดเส้นทางการผลิต ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาฟาร์มเลี้ยงปลากะพงให้เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีมีกำลังการผลิตที่เพียงพอก็อยากจะหาตลาดใหม่ๆเพิ่มเติม

"เพื่อเป็นการขยายตลาดปลากะพงขาว จังหวัดฉะเชิงเทรา จึงได้ขยายตลาดปลากะพงขาว มายังจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่ที่มีประชากร จำนวนมาก และมี นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะ ชาวจีน จึงได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง( MOU) ระหว่างผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงปลากะพงขาว จังหวัดฉะเชิงเทรา กับ ชมรมภัตตาคารร้านอาหารจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้แนวคิด Business Matching and Joint Communication โอกาส..คู่ค้า..ตลาดใหม่" ระหว่างผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงปลากะพงขาวจังหวัดฉะเชิงเทรากับผู้ประกอบการและผู้บริโภคจังหวัดเชียงใหม่"

ด้านนายสุทธิ มะหะเลา นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย กล่าวว่า การเพาะเลี้ยงปลากะพงของจังหวัดฉะเชิงเทรา และของประเทศไทย ปี 2559 ประเทศไทยมีผลผลิตปลากะพงมากกว่า 6 หมื่นตัน โดยในส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรามีมากกว่า 2 หมื่นตัน มีการเพาะเลี้ยงปลากะพงขาว และปลากะพงขาวยักษ์ มีการพัฒนามาตรฐานการผลิต ยกระดับเกรดสินค้าของปลากะพง ทั้งในเรื่องของกลิ่นโคลน เรื่องของยาปฏิชีวนะ เรื่องของสารเคมีตกค้าง ตรงนี้ควบคุมได้ถึงระดับเกือบ 100% แล้ว แต่ในส่วนของ ปลากะพงที่ส่งให้กับการบินไทย ควบคุมได้ 100%

"จังหวัดฉะเชิงเทรามีความยินดีที่จะส่งปลากระพงขาวให้กับผู้บริโภคในจังหวัดเชียงใหม่ได้ลองรับประทานและพิสูจน์ความสด สะอาด ไม่ว่าจะเป็นปลาที่มีชีวิตหรือปลาไม่มีชิวต เรามีทีมที่จัดส่งให้เป็นปลาเป็น ให้คนเชียงใหม่ได้ลองทานปลาที่เป็นปลาเป็นที่มีรสชาติดี เนื้อจะหวาน ส่วนการลงนามกับผู้ประกอบการภัตตาคารร้านอาหารในเชียงใหม่ ผลผลิตที่ส่งให้มีทั้งแปรรูป ปลากะพงยักษ์ และเป็นปลาแช่น้ำแข็ง ขนาด 7 ขีด- 1 กิโลกรัม และในส่วนของปลาที่มีชีวิต สำหรับปริมาณที่ส่งขึ้นมาเชียงใหม่เดือนละ 10 ตัน มูลค่าตันละ 1.5 แสนบาท/ตัน หรือประมาณเดือนละ 1.5 ล้านบาท คาดว่าหลังจากการลงนาม MOU ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2-3 เท่า เมื่อชาวเชียงใหม่ให้การตอบรับมากขึ้น"

นายชวลิต ฉ่อนเจริญ ประธานชมรมภัตตาคารร้านอาหารจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ชมรมและภัตตาคารร้านอาหารจังหวัดเชียงใหม่ได้มาบันทึกความร่วมมือกับทางประมงจังหวัดฉะเชิงเทรา กลุ่มผู้เลี้ยงปลากะพงขาวทั้งปลากะพงขาวจานและปลากะพงขาวยักษ์คิดว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทางชมรมภัตตาคารร้านอาหารจังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ส่งเสริมเกษตรกรจังหวัดฉะเชิงเทรา และยังได้ปลากะพงที่มีคุณภาพที่ดี ในราคามาตรฐาน

"ที่ผ่านมา สมาชิกของชมรมที่ใช้ปลากะพงขาวมีประมาณ 100 กว่าร้านค้า จะมีคนกลางส่งตรงมาจากต่างจังหวัด บางทีก็ซื้อตามห้างโมเดิร์นเทรด ตามแม็คโคร ตลาดเมืองใหม่ ซึ่งคุณภาพและขนาด ไม่สม่ำเสมอ จึงมีการเจรจากับกลุ่มผู้เลี้ยงปลากะพงขาว เลย ถือเป็นโอกาสของร้านอาหารและของผู้บริโภคด้วย แล้วปริมาณที่ได้คุยกันไว้ในเบื้องต้นหลังจากที่ลงนามบันทึกความร่วมในรอบแรก เราจะสั่งประมาณรอบแรก 300 กิโลกรัม ในราคากิโลกรัมละ 100 กว่าบาท"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,259 วันที่ 7 - 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560