ทางออกนอกตำรา : ไล่ล่าภาษี "อัล คาโปน" รถหรู

03 พ.ค. 2560 | 10:15 น.
ทางออกนอกตำรา 

โดย : บากบั่น บุญเลิศ 

ไล่ล่าภาษี "อัล คาโปน" รถหรู

ผมเขียนเรื่อง “อัล คาโปน แก๊งรถหรูเลี่ยงภาษี” มา 2 ตอนแล้ว ได้โฟกัสลงไปที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ร่วมทุจริตกับเอกชนที่นำรถยนต์เข้ามาแล้วสำแดงภาษีต่ำกว่าความเป็นจริง ล่าสุดมีคำถามเข้ามาว่า ปัจจุบันคณะรัฐมนตรีจะมีมติห้ามนำเข้ารถยนต์มาประกอบในเมืองไทยแล้ว แต่ทำไมขบวนการนำเข้ารถหรูยังเติบโตจนน่าสนใจและเราเรียกเก็บภาษีย้อนหลังได้หรือไม่

ผมขอไปทีละประเด็นนะครับ ประเด็นแรก "ใช่ครับ ครม.เคยมีมติไปเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2555 ห้ามนำเข้าตัวถังรถยนต์นั่ง และรถมอเตอร์ไซค์ใช้แล้วจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร "

มติดังกล่าว มีขึ้นเพื่อปกป้องธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์ที่เป็นเกรย์มาร์เก็ต มากกว่าสกัดการนำเข้ารถยนต์หรูที่หลีกเลี่ยงภาษี
ทำไมเป็นเช่นนั้น ถ้าไปพิจารณามติครม.เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2555 จะเขียนชัดในมติว่า เพื่อป้องกันการลักลอบนำอะไหล่ชิ้นส่วนมาประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูป มาประกอบในประเทศแล้วขายตัดราคาตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ทั้งที่เป็นดีลเลอร์อย่างเป็นทางการและเกรย์มาร์เก็ต ที่เสียภาษีนำเข้าภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่มที่ตกประมาณ 328%

แต่การนำเข้าชิ้นส่วน ตัวถัง เพื่อนำมาประกอบเป็นรถยนต์ในประเทศกลับเสียภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มแค่ 49.5%เท่านั้น
มติครม.เมื่อกันยายน 2555 จึงเป็นมติ ครม.ที่ตอบสนอง ”เครือญาติ-น้องเขย” ของรัฐมนตรีบางคนที่ทำธุรกิจเกรย์มาร์เก็ตมากกว่า สกัดการเลี่ยงภาษีรถยนต์หรู

ผลที่ตามมาของมติดังกล่าว ทำให้ธุรกิจรถจดประกอบในเมืองไทยล้มหายตายจากและถูกตำรวจตามรังควานกับผู้ครอบครองรถยนต์อยู่จนปัจจุบัน

ประเด็นต่อมา ต้องยอมรับว่า แม้จะมีคำสั่งห้ามนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์มาประกอบในเมืองไทย แต่ธุรกิจรถจดประกอบยังคงแอบดำเนินการอยู่ แต่มีการซิกแซ็กการนำเข้า เห็นได้จากการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเข้าตรวจยึดรถหรูที่นำเข้ามาจดประกอบในเมืองไทยในปี 2559 ถึง 49 คัน มูลค่ากว่า 480 ล้านบาท

ถามว่า ทำไมยังมีรถหรู รถจดประกอบจำนวนมากถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและยึดรถมาขาย?
คำตอบคือ ธุรกิจนี้มีอนาคต เพราะมีต้นทุนในการนำเข้าที่ต่ำแต่ทำกำไรสูง

ประการต่อมา เจ้าหน้าที่ก็สามารถทำเงินจากการจับกุม เพราะรถยนต์ 1 คัน ที่มีการจับกุมและนำไปสู่การประมูลขายทอดตลาด ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร 2469 กำหนดให้แบ่งเงินรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมในอัตรา 25% ของมูลค่าของกลางที่ขายได้ และจัดสรรให้ผู้แจ้งเบาะแส หรือสายสืบ 30% ของมูลค่าของกลาง

ถ้าผมจับมือกับเจ้าหน้าที่ดำเนินการในลักษณะของการนำเข้าที่ผิดกฎหมายแล้วถูกอายัดของกลางไว้ แต่ผมถอดอุปกรณ์สำคัญออกไปในหลายส่วน ทั้งที่เป็นกล่องสมองกล หรือถอดอะไหล่สำคัญไป แล้วผมวกกลับมาประมูลอีกทีทำได้มั้ย คำตอบคือได้ทั้งกล่องเเละได้ทั้งเงิน…

ตรงนี้จึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่า เมื่อใดก็ตามที่กรมศุลกากรเปิดประมูลรถหรู จะมีกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจนำรถที่ถูกจับกุมโดยตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ ในหลายพื้นที่นำรถหรูเข้าร่วมงานประมูลทุกครั้ง เพราะรถของกลางถูกตำรวจนำไปเก็บรักษาไว้เอง

ขณะเดียวกันนั้น ปัจจุบันแม้จะมีการควบคุมปริมาณการนำเข้ารถหรูและมีความพยายามในการรีดภาษีจากบริษัทผู้นำเข้าที่สำแดงภาษีอันเป็นเท็จ แต่เชื่อหรือไม่ มีการเรียกเก็บภาษีจากการนำเข้ารถยนต์หรูได้ไม่ถึง 10% ที่เหลือเก็บไม่ได้

ทำไมเก็บภาษีไม่ได้? สำนักข่าวอิศรา เคยนำข้อูลบริษัทผู้นำเข้ารถยนต์อิสระ (เกรย์มาร์เก็ต) ที่ถูก ป.ป.ท.สุ่มตรวจสอบ จำนวน 15 ราย หลังจากปรากฏหลักฐานน่าเชื่อว่าอาจจะมีการสำแดงราคานำเข้ารถยนต์ที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อเสียภาษีนำเข้าให้น้อยลง ก่อนนำรถไปขายต่อในราคาแพง มีรายชื่อดังนี้

1.บริษัท ไซโห ออโต้โมทีพ จำกัด 2.บริษัท วีแอนด์พี ออโต้เทรดดิ้ง จำกัด และบริษัท วี.เจ.พี.ออโต้เทรดดิ้ง จำกัด 3.บริษัท บางกอกเรเชล อิมพอร์ต เอ็กซ์พอร์ต จำกัด 4.บริษัท วิริยะ เซ็นเตอร์ จำกัด 5.บริษัท บูลสกาย 24 จำกัด 6.บริษัท คอมพลีต ออโต้ จำกัด 7.บริษัท ยูลีด จำกัด 8.บริษัท เอ็นทีเอ็น อิมพอร์ต ซุปเปอร์คาร์จำกัด 9.บริษัท เจเอ็ม ดับบลิว มอเตอร์ส จำกัด 10.บริษัท ปีดี จำกัด 11.บริษัท เอพีพี คาร์ส อิมพอร์ท จำกัด 12.บริษัท ยูโร อิมพอร์ต จำกัด 13.บริษัท วีเอส อิมพอร์ตคาร์ จำกัด 14.บริษัท พรีเมียร์ อิมพอร์ต คาร์ส จำกัด 15.หจก.วิวัฒน์ชัย ซัพพลาย

สำนักงาน ป.ป.ท. ระบุในสำนวนการสอบสวนว่า บริษัทผู้นำเข้ารถยนต์หรู ทั้ง 15 ราย ไม่มีสถานประกอบการอยู่จริง บางบริษัทเป็นเพียงบ้านพักอาศัยธรรมดา ไม่มีที่อยู่จริง บางบริษัทมีสภาพเป็นร้านขายของชำ และเป็นโรงงานร้าง

โดยบริษัท คอมพลีต ออโต้ จำกัด ซึ่งถูกระบุว่านำรถเข้ามาเป็นจำนวน 48 คัน แจ้งที่ตั้งสำนักงานเลขที่ 73 โครงการสมาร์ท คาร์พลาซ่า พื้นที่ 14 ถนนพระราม 7 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กทม. แต่เมื่อเจ้าหน้าที่เดินทางไปตรวจสอบไม่พบว่ามีบริษัทแห่งนี้อยู่จริง

ส่วนบริษัท เจเอ็ม ดับบลิว มอเตอร์ส จำกัด ซึ่งถูกระบุว่านำเข้ารถมาจำนวน 46 คัน มีการตรวจสอบพบว่า สำนักงานที่ตั้งตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ คือ 370 นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ถนนฉลองกรุง แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กทม. เป็นโรงงานร้างไม่ได้ดำเนินธุรกิจอะไร

ส่วน บริษัท ปีดี จำกัด ที่แจ้งยอดนำเข้ารถมาจำนวน 37 คัน ถูกตรวจสอบพบว่า สำนักงานที่ตั้งที่แจ้งไว้ คือ 34/17 ม.สวนสยาม ซอย 32 ถ.เฉลิมพระเกียรติ แขวงหนองบอน เขตประเวศ กทม. มีลักษณะเป็นบ้านพักอาศัย ไม่ได้ประกอบกิจการ แต่อย่างใด
ขณะที่บริษัท พรีเมียร์ อิมพอร์ต คาร์ส ที่ตั้งมีสภาพเป็นร้านขายของชำ ส่วนหจก.วิวัฒน์ชัย ซัพพลาย ที่ตั้งมีสภาพร้านขายเครื่องนอน

ตรงนี้คือความจริงอันเจ็บปวดที่คนไทยต้องรับรู้ และต้องหาทางบีบให้หน่วยงานรัฐต้องจัดการเรื่องนี้ให้เคลียร์…
คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา /หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฉบับ / 3258 ระหว่างวันที่ 4-6 พ.ค.2560