พาณิชย์พร้อมใช้ประโยชน์จากนโยบาย One Belt One Road

03 พ.ค. 2560 | 10:32 น.
พาณิชย์พร้อมใช้ประโยชน์จากนโยบาย One Belt One Road ส่งเสริมการค้าการลงทุนไทย-จีน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 14 – 15 พฤษภาคม 2560 ที่จะถึงนี้ มีกำหนดเดินทางไปยังประเทศจีนเพื่อเข้าร่วมการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation (BRF) ณ กรุงปักกิ่ง ภายใต้หัวข้อการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศและร่วมกันพัฒนาเส้นทางสายเศรษฐกิจแห่งนี้ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย โดยมี  ผู้นำจาก 28 ชาติ รัฐมนตรีกว่า 100 คน พร้อมด้วยผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ 80 องค์กร และนักธุรกิจระดับโลกเข้าร่วมงานไม่น้อยกว่า 1,200 คน โดยนโยบาย “One Belt One Road” (OBOR) ซึ่งริเริ่มมาจากแนวคิดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนนี้ เป็นนโยบายการสร้างความเชื่อมโยงของจีนกับอีก 64 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมจำนวนประชากรราว 4,500 ล้านคน มี GDP รวมกันกว่า 23 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62 และ 30 ของโลก โดยจีนพยายามที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงทั้งทางบก (เส้Œนทางสายไหมทางเศรษฐกิจ จำนวน 3 เส้นทาง) และทางทะเล (เส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 จำนวน 2 เส้นทาง) เชื่อมระหว่างอาเซียน เอเชีย แอฟริกา และยุโรป โดยมีการเชื่อมโยงความร่วมมือในหลายด้าน อาทิ

ความร่วมมือด้านนโยบาย การเสริมสร้างสมรรถนะ การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน และความร่วมมือด้านการเงิน ซึ่งมีจีนเป็นจุดศูนย์กลาง สำหรับการประชุมในครั้งนี้จีนจะได้มีการหารือถึงแนวทางการผลักดันนโยบาย OBOR ในหลายประเด็นด้วยกัน อาทิ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ ความสามารถในการผลิต การเงิน และการค้าและการลงทุน เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วในการประชุมยังจะได้มีการจัดตั้งคณะทำงานในสาขาต่างๆ ขึ้นมา เพื่อผลักดันโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือด้านการลงทุน อีกด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์นั้น ก็ได้ให้ การสนับสนุนแนวคิดนโยบายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสอดคล้องกับนโยบายของไทยที่ให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงในภูมิภาค (Connectivity) ทั้งทางบก ทางอากาศ และทางทะเล เพื่อให้ไทย  เป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้โครงการของรัฐบาลที่มุ่งเสริมสร้างความเชื่อมโยงของไทยกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และมุ่งเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ซึ่งสามารถดำเนินการควบคู่กับนโยบาย OBOR ของจีน อาทิ (1) โครงการประเทศไทย 4.0 ซึ่งสอดคล้องกับจีนที่มี แผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ซึ่งเน้นเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง และสินค้านวัตกรรม ซึ่งนโยบาย  ของทั้งสองประเทศนี้สามารถที่จะพัฒนาร่วมกันสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ได้ และ (2) โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งของเอเซีย โดยจะเป็นศูนย์กลางในการคมนาคม เป็นจุดขนส่งและกระจายสินค้า เป็นที่ตั้งอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค นอกจากนั้นยังเป็น Gateway สำคัญของนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนชาวจีนที่จะเข้ามาใช้ EEC ในการเป็นฐานการผลิตเพื่อกระจายสินค้าไปสู่กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง

“รัฐบาลจีนให้ความสนใจกับโครงการนี้ไปอย่างมาก โดยได้กำหนดตำแหน่งทางยุทศาสตร์ของแต่ละภูมิภาคไว้อย่างชัดเจนเพื่อรองรับนโยบายดังกล่าว อาทิ ภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ที่จะเชื่อมไปยังประเทศในเอเชียกลาง ใต้ และตะวันตก ตลอดจนเชื่อมไปยังรัสเซียในด้านเหนือ โดยมีมณฑลซินเจียงเป็นมณฑลหลัก ในส่วนภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ถูกกำหนดให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่จะเชื่อมไปยังอาเซียน สำหรับมณฑลภาคกลางของประเทศ ถูกกำหนดให้เป็นเส้นทางการเชื่อมโยงหลักในการเชื่อมกับภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศโดยเน้นการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอีกทั้งยังมีกำลังแรงงานเป็นจำนวนมากเพื่อรองรับการพัฒนา และสุดท้ายมณฑลทางภูมิภาคชายฝั่งด้านตะวันออก เป็นพื้นที่ๆ มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เป็นที่ตั้งของท่าเรือชายฝั่งและศูนย์กลางด้านการบินระหว่างประเทศ ทั้งนี้ การเชื่อมโยงตามเส้นทาง OBOR ที่เชื่อมต่อเศรษฐกิจจีนเข้ากับเศรษฐกิจของหลายภูมิภาคทั่วโลกนั้นจะทำให้เกิดการพัฒนาเมืองตามแนวที่เส้นทาง OBOR พาดผ่าน ซึ่งจะทำให้เกิดตลาดใหม่ขึ้นมารองรับการส่งออกสินค้าของไทยเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมากซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศเร่งศึกษาศักยภาพและโอกาสของเมืองตามแนวเส้นทาง OBOR เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนหรือร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาตลาดที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านี้ต่อไปแล้ว” นางอภิรดี กล่าวในตอนท้าย

ทั้งนี่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 นี้ (ม.ค.-มี.ค.) จีนถือได้ว่าเป็นประเทศคู่ค้าที่มีมูลค่าการค้ากับไทยมากเป็นลำดับที่ 1 โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 17,226 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น  ร้อยละ 14.6  แยกเป็นไทยส่งออกไปจีน มูลค่า 7,155 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 36.9 และไทยนำเข้าจากจีน มูลค่า 10,071 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.7 สำหรับในปี 2560 นี้ กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกไทยไปยังจีนจะขยายตัวร้อยละ 4