รัฐจ่อออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีชุดใหม่

03 พ.ค. 2560 | 09:31 น.
“อุตมม”เร่งขับเคลื่อนเอสเอ็มอี เตรียมหารือออกมาตรการช่วยเหลือชุดใหม่ภายใต้วงเงิน 3.8 หมื่นล้านบาท หวังให้เอสเอ็มอีระดับรากหญ้าหรือไม่โครเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในวันที่ 5 พฤษภาคมนี้ จะมีการประชุมคณะทำงานด้านการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและวิสาหกิจเริ่มต้น ภายใต้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ซึ่งจะมีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย รวมถึงตัวแทนจากตลาดหลักทรัพย์ MAI และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นต้น เข้าร่วมด้วยนั้น จะมีการหารือเพื่อเสนอมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ในชุดมาตรการใหม่ออกมา เพื่อนำไปสู่การปรับตัวตามนโยบายประเทศไทย 4.0 และเชื่อมโยงกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้มีการพัฒนาไปพร้อมๆกัน

มาตรการช่วยเหลือดังกล่าว จะลงไปสู่เอสเอ็มอีระดับรากหญ้าขนาดเล็กมากหรือไมโครเอสเอ็มอี ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ที่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือออกมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท สินเชื่อ Transfromation Loan ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท กองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอี 1,000 ล้านบาท และกองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอี 2,000 ล้านบาท รวม 3.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเอสเอ็มอีรายเล็ก หรือมีการจ้างงานไม่เกิน 5 คน หรือไม่ได้จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ที่มีอยู่ราว 2.1 ล้านราย ไม่สามารถเข้าถึงหลักเกณฑ์การปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้

ดังนั้น มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีชุดใหม่ ที่ออกมา โดยจะนำเงินจากวงเงิน 3.8 หมื่นล้านบาท มาช่วยสนับสนุน แต่จะต้องเป็นเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพและพร้อมที่จะปรับตัวหรือพัฒนาต่อยอดต่อไปได้
“มาตรการที่จะออกมาครั้งนี้ จะเป็นการช่วยเหลือเอสเอ็มอีทุกระดับ ทุกขนาด เพราะนอกจากช่วยเหลือด้านการเงินแล้ว จะยังช่วยเหลือในรูปของการเสริมสร้างให้ความรู้ควบคู่ไปด้วย"

ทั้งนี้ หลังจากมีการหารือแล้ว คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะสามารถนำมาใช้ได้ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้
ส่วนการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของกองทุนต่างๆ วงเงิน 3.8 หมื่นล้านบาท นั้น ขณะนี้มีคำขอเข้ามายื่นแล้วเป็นจำนวนมากจากจังหวัดต่างๆ ซึ่งในวันที่ 5 พฤษภาคมนี้ จะมีการหารือ เพื่อกำหนดการเดินทางลงพื้นที่ใน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก ชลบุรี นครปฐม อุดรธานี อุบลราชธานี สงขลา และกระบี่ เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็น ในมาตรการช่วยเหลือชุดใหม่ที่จะออกมาด้วย ว่าเอสเอ็มอียังมีความต้องการอะไรเพิ่มเติมอีก