ผู้สูงอายุมึนกับมาตรการการช่วยเหลือของรัฐ

03 พ.ค. 2560 | 09:07 น.
ในระยะเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมามีข่าวมากมายเกี่ยวกับมาตรการต่างๆที่รัฐบาลกำลังคิดกำลังทำเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ซึ่งในบางมาตรการก็ยังเป็นที่กังขา

ความจริงที่เป็นที่รู้กันในขณะนี้ คือ ประเทศไทยที่ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) ตั้งแต่ปี 2546 โดยมีประชากร อายุ 60 ปีหรือมากกว่าเป็นจำนวน 6.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด   จากนั้นมา ในปี 2558 จำนวนผู้สูงอายุก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนเป็น 10.5 ล้านคน และคิดเป็นร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด และจะเพิ่มเป็น 14 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ในอีก 4 ปีข้างหน้าโดยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในตอนนั้น และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเป็น 21 ล้านคนและเป็นสังคมผู้สูงอายุสุดยอด(Super Aged Society) ในอีก 18 ปีข้างหน้า โดยมีผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด

การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแต่ละระยะจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศและสวัสดิการของผู้สูงอายุอย่างไม่ต้องสงสัย  เพราะมีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 38 เท่านั้นที่ยังทำงานอยู่ด้วยเหตุผลต่างๆทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม  ที่สำคัญ จากการสำรวจประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทย ปี 2557 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า หนึ่งในสามของผู้สูงอายุมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (2,647 บาท/เดือน) หรือ ประมาณ 3 หมื่นบาทต่อปี

สวัสดิการความช่วยเหลือหลักๆที่ผู้สูงอายุได้รับคือร้อยละ 37 ของผู้สูงอายุได้รับเงินจากบุตร  ร้อยละ 34 มีรายได้จากการทำงาน  ผู้สูงอายุที่มีรายได้จากเบี้ยยังชีพ มีเพียงร้อยละ 15 (ต่ำกว่าตัวเลขกระทรวงการคลังมาก-ไปตรวจสอบกันเอง) ซึ่งในปี 2557 ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60-69 จะได้รับเบี้ยเดือนละ 600 บาท/เดือน เพิ่มเป็น 700 บาท/เดือนสำหรับผู้มีอายุ 70-79 ปี 800 บาท/เดือนสำหรับผู้อายุ 80-89 ปี และ 1000 บาท/เดือนสำหรับผู้อายุ 90 ปีขึ้นไป ส่วนผู้ที่มีรายได้จากบำเหน็จบำนาญมีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น

ต้องชมรัฐบาล คสช.ว่ามีความตื่นตัวเรื่องสังคมผู้สูงอายุมากและมีมาตรการต่างๆออกมารองรับมากมายหลายอย่าง อาทิ

แผนงานด้านเศรษฐกิจเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุที่กระทรวงการคลังเสนอและผ่านมติ ครม. ไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ขณะนี้ผ่านมากว่า 5 เดือน แผนงานเริ่มเห็นชัดเป็นรูปธรรมมากขึ้น

แผนส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยมีมาตรการด้านภาษีเพื่อสนับสนุนบริษัทเอกชนจ้างคนอายุเกิน 60 ปีทำงาน นำรายจ่ายมาหักภาษี 2 เท่า แม้กฎหมายประกาศเมื่อเดือนมีนาคม 2560 แต่ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2559

แผนงานสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ กรมธนารักษ์นำร่องด้วยการนำที่ราชพัสดุให้กลุ่มโรงพยาบาลเช่าในราคาถูก เพื่อทำที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร (Senior Complex) โดยลงนามไปแล้วกับโรงพยาบาลรามาธิบดีในพื้นที่สมุทรปราการ และเตรียมทำในอีก 4 พื้นที่ คือ เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ นครนายก และชลบุรี คาดว่าจะมีที่พักอาศัยรวมกันไม่น้อยกว่า 2 พันยูนิต

แผนด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage : RM) เป็นรูปแบบใหม่ของสินเชื่อ ด้วยการให้ผู้สูงอายุที่มีบ้าน คอนโดมิเนียม แบบปลอดภาระหนี้ มาขอสินเชื่อกับธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดยรับเงินเป็นรายเดือนเพื่อใช้ดำรงชีพ สามารถอาศัยอยู่ได้จนกว่าจะเสียชีวิต ซึ่งธนาคารออมสินเปิดตัวไปแล้ว ส่วน ธอส.อยู่ระหว่างการแก้กฎหมาย เพื่อให้ดำเนินการได้ (ผู้เขียนไม่ค่อยตื่นเต้นกับมาตรการนี้เท่าไหร่ เพราะถ้ามีอสังหาริมทรัพย์ก็สามารถเอาเข้าธนาคารทำ Overdraft: OD ได้เงินมาใช้ตามต้องการอยู่แล้วไม่ต้องรอรับเป็นเดือนๆ)

แผนในเรื่องบำเหน็จบำนาญซึ่งกำลังยกร่างกฎหมายกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ สำหรับแรงงานอายุตั้งแต่ 15-60 ปี คาดว่าจะเปิดรับสมาชิกในช่วงปี 2561 โดยมีเป้าหมาย คือ ต้องการให้คนหลังเกษียณมีรายได้ต่อเดือน 50% ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย

รัฐบาลยังดูแลเรื่องการประกอบอาชีพด้วย โดยในปีนี้ตั้งเป้าให้ผู้สูงอายุมีงานทำและมีรายได้เพิ่ม 39,000 อัตรา โดยเฉพาะในชนบทผ่านวิสาหกิจชุมชน  รวมทั้งการพยายามเพิ่มจำนวนสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนมีเงินออมไว้ใช้ยามเกษียณ

อย่างไรก็ตาม บางมาตรการก็ยังเป็นที่สงสัยของผู้สูงอายุอยู่ว่าจะทำเพื่อใคร หรือทำได้แค่ไหน

ที่ฮือฮามาก คือ แนวคิดที่กระทรวงการคลัง เตรียมทบทวนยกเลิกจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้เกิน 9 พันบาทต่อเดือน หรือมีทรัพย์สินเกิน 3 ล้านบาท คาดช่วยรัฐประหยัดงบได้กว่าหมื่นล้าน รวมทั้งแนวคิดเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นรายละ 1,200-1,500 บาท เพื่อให้เหมาะสมกับการครองชีพในปัจจุบัน โดยระหว่างนี้กำลังศึกษารายละเอียด เช่น การระดมเงินทุนจากแหล่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือกองทุนสนับสนุนการกีฬา รวมถึงเงินที่ผู้สูงอายุที่มีฐานะดีอยู่แล้วและยอมเสียสละเบี้ยยังชีพคนชราอีกส่วนหนึ่ง จัดตั้งเป็นกองทุนผู้สูงอายุ

ตามข่าวกล่าวว่า กองทุนผู้สูงอายุจะนำเงินไปเพิ่มเบี้ยยังชีพให้แก่คนชราที่มีประมาณ 10 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มคนชราที่ยากจน หรือมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2,000,000 คน จากการสำรวจตามโครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจนหลังการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรอบที่ 2 แล้ว ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.

มาถึงตรงนี้ ผู้เขียนสังเกตว่ารัฐบาลเริ่มสับสนระหว่างกองทุนที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ กับกองทุนผู้สูงอายุที่มีอยู่เดิมและตั้งขึ้นตาม พรบ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ว่าน่าจะเป็นคนละกองทุนกัน รวมทั้งตัวเลขที่อ้างอิงที่ต่างจากการสำรวจประชากรสูงอายุโดยหน่วยงานของรัฐด้วยกัน

น่าจะคลำเป้าให้แม่นๆหน่อย มาตรการต่างๆจึงจะประสบความสำเร็จ

โดย : สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพั ฒนาสังคม

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย