หวั่นดึงทุนต่างชาติแป๊ก NewS-curve 7.7 พันล้าน ลุ้นหักภาษี1.5เท่ากระตุ้น

04 พ.ค. 2560 | 00:00 น.
คลังหวั่นมาตรการดูดลงทุนต่างชาติแป้ก หลังตัวเลขไตรมาสแรก 5 อุตสาหกรรม New S-curve ยังลงทุนอืด ตัวเลขขอส่งเสริมลงทุนเพียง 7.7 พันล้านบาทขณะธุรกิจการบิน ยังไร้ต่างชาติปักหมุด จับตาไตรมาส2 หวังมาตรการหักภาษี 1.5 เท่ากระตุ้นลงทุนฟื้น

กระทรวงการคลังสรุปผลการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในงวดไตรมาสแรกของปี 2560 หรือระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม พบว่ามีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน34,388 ล้านบาท คิดเป็น 55% ของมูลค่าคำขอทั้งหมดจำนวน 61,980 ล้านบาท

5 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-curve) มีมูลค่าคำขอ7,779 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12% โดยเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วงเงินลงทุน 4,278 ล้านบาท อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติลงทุน 244 ล้านบาท อุตสาหกรรมดิจิตอลลงทุน 285 ล้านบาท อุตสาหกรรมการแพทย์ลงทุน 2,972 ล้านบาท ส่วนอุตสาหกรรมอากาศยานยังไม่มีการขอการลงทุน

ขณะที่อุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม หรือ First S-curve มีวงเงินลงทุนรวม 26,609 ล้านบาทคิดเป็น 43% แบ่งเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 4,480 ล้านบาท อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ 8,916 ล้านบาท อุตสาหกรรมการเกษตร 10,141 ล้านบาทและอุตสาหกรรมสิ่งทอ 508 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามยังมีอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย วงเงินลงทุนกว่า 27,592 ล้านบาท คิดเป็น 45% โดยยังเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่งทางอากาศ ขอลงทุน 1,414 ล้านบาท อุตสาหกรรมการขนส่งทางเรือ 839 ล้านบาทธุรกิจ IHQ และ ITC วงเงินลงทุน 1,476 ล้านบาท ธุรกิจการวิจัยและพัฒนา 572 ล้านบาทและธุรกิจไฟฟ้าจากขยะ 5,082 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามการลงทุนดังกล่าวเป็นผลดีเป็นผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจเนื่องจากมีโครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้วในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 รวม 308 โครงการ คิดเป็นวงเงินลงทุนมูลค่ากว่า 239,670 ล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างงานให้กับคนไทยถึง 16,000 ตำแหน่ง ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการจ้างงานสูงสุด

นอกจากนี้ในอุตสาหกรรมข้างต้นยังใช้วัตถุดิบภายในประเทศสูงถึง 1.95 แสนล้านบาทต่อปี ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มบริการและสาธารณสุขที่มีการใช้วัตถุดิบและภายในประเทศสูงสุดและมีอีกอย่างสร้างรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศสูงถึง 7.4หมื่นล้านบาทต่อปีโดยส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กระทรวงการคลังค่อนข้างกังวลต่อข้อมูลขอการลงทุนในไตรมาสแรก เนื่องจากหลังจากได้พิจารณาขยายมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ตามที่ภาคเอกชนทำเรื่องเสนอเข้ามา ที่ให้นำรายจ่ายจากการลงทุนมาหักภาษีได้ 1.5 เท่า แม้จะลดลงจากมาตรการปี 2559 ที่ให้ถึง 2 เท่า ก็ยังไม่สามารถการันตีได้ว่าจะมีเอกชนเข้ามาใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวมากน้อยเพียงใด

“คลังได้ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามการลงทุนอย่างต่อเนื่องแล้วโดยเฉพาะรายที่ต้องการที่จะลงทุนภายในสิ้นปีนี้และได้ติดตามขอลงชื่อไว้ว่าได้เสนอแผนเตรียมของการลงทุน เม็ดเงินได้เป็นไปตามแผนหรือไม่เพื่อแลกกับสิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลได้เสนอให้”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,258 วันที่ 4 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2560