สทบ.เติมงบฯ‘กองทุนหมู่บ้าน’ บูม!!ร้านค้าชุมชนต้นแบบ

05 พ.ค. 2560 | 03:00 น.
นับจากที่กองทุนหมู่บ้านได้ก่อตั้งเมื่อปี 2544 รัฐบาลได้จัดสรรงบในรูปเงินให้เปล่าเป็นวงเงินรวมไม่น้อยกว่า 2.3 แสนล้านบาท (ไม่นับรวมเงินให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำอีกแสนล้านบาท) เป็นการจัดสรรในปีงบประมาณ 2560 จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนแห่งชาติ (สทบ.) ถึงการพัฒนาต่อยอดและภาพรวมสถานะของกองทุนฯในวันนี้

แผนเบิกจ่าย
บอร์ดสทบ.จะประชุมต้นเดือนพฤษภาคมนี้ เราวางเป้าอยากให้วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท (จัดสรรจากงบกลาง 1.9 แสนล้านบาท) เบิกจ่ายตั้งแต่เดือนนี้ เฉลี่ยกองทุนละ 2 แสนบาทเป็นโครงการที่ต่อยอดจากปี 2559 และใช้ปรับปรุงซ่อมแซมเช่นภาคใต้ที่เกิดน้ำท่วม ทุกกองทุนสามารถขอใช้วงเงิน ยกเว้นรายที่ไม่พร้อมหรือไม่เป็นนิติบุคคลมีประมาณ 2 พันกองทุน จากกองทุนทั่วประเทศ 7.959 หมื่นกองทุน และหากเฉลี่ยได้กองทุนละ 2 แสนบาท จะมีกองทุนที่ได้สิทธิ 7.5 หมื่นกองทุน เหลืออีก 2 พันกองทุนที่ไม่ได้ (หักจากรายที่ไม่เป็นนิติบุคคล) เทียบแล้วยังมากกว่าปี 2559 ที่ได้ 6.6 หมื่นกองทุน จากวงเงินที่รัฐจัดสรรให้ 3.5 หมื่นล้านบาท กองทุนละ 5 แสนบาท และส่วนใหญ่ 25% หรือคิดเป็น 1.93 หมื่นกองทุน เสนอทำโครงการร้านค้าประจำหมู่บ้าน บางพื้นที่รวมตัวเป็น 10 กองทุนเสนอวงเงินรวม 5 ล้านบาทก็มีเพื่อทำเป็นร้านค้าตำบล ซึ่งรัฐบาลค่อนข้างพอใจ และได้พัฒนาต่อยอดโดยได้มอบหมายให้กองทุนหมู่บ้านฯ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์พสร้างร้านค้าชุมชนต้นแบบ คือมีระบบแฟรนไชส์ มีสินค้าชุมชนที่เป็นแม็กเนตดึงดูดของจังหวัด มีสินค้าต้นทุน (ธงฟ้า) ใช้หลักคิดในการบริหารจัดการ ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2560 จะมีร้านค้าชุมชนต้นแบบ 400-500 แห่งทั่วประเทศ และหากเกิดผลสำเร็จจะขยายเป็น 2 หมื่นกองทุนในปี 2561

 ร้านค้าต้นแบบ
ใน 1.93 หมื่นกองทุน เราจะค่อยๆทำ อบรมไปทีละรุ่น โดยใน 1 พันแห่ง จัดเป็น 5 รุ่น ๆละ 200 แห่ง เชื่อว่ามีทั้งกลุ่มที่ไปต่อและไม่ไปต่อ หากใน 1 พัน มีกลุ่มไปต่อสัก 500 แห่ง ก็จะอบรมในหลักสูตรแอดวานซ์ เรียนรู้ระบบโลจิกติกส์ และระบบแลกเปลี่ยนสินค้า

“เป้าหมายเราคือร้านค้าประชารัฐเดือนหนึ่ง หากมีรายได้เข้ามา 2 หมื่นบาทในหมู่บ้านชุมชน เราตั้งธงใหม่ว่าแทนที่จะเป็น 2 หมื่นบาทต่อเดือน เป็น 2 หมื่นบาทต่อวันได้หรือไม่ และถ้าร้านค้าทั้ง 2 หมื่นร้านสามารถมีรายได้หมุนเวียนต่อปีร้านค้าละ 1 ล้านบาท รวมแล้วก็จะได้ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี นี่คือเศรษฐกิจฐานรากตัวจริง ฉะนั้นรัฐบาลจึงทุ่มใส่เงินให้กองทุนหมู่บ้าน แต่การจะกระตุ้นให้เกิดดีมานด์ต้องสร้างระบบบัตร “บัตรสมาชิกเพื่อร้านค้า” เป็นบัตรกลางที่ทั้ง 1.93 หมื่นกองทุน สามารถใช้ร่วมกัน เป็นการสร้างรอยัลตี้บัตรให้เกิดดีมานด์ของสินค้า และทำให้ซัพพลายเออร์เกิด เป็นบัตรระบบเงินเชื่อไม่ใช่ระบบเงินสด “ ผู้อำนวยการสทบ.กล่าวและว่าขณะนี้ทั้งแบงก์รัฐ และสถาบันการเงินเอกชน ได้เสนอรูปแบบบัตรเข้ามา แต่เรายังไม่เลือกใคร

ฟื้น1.09 หมื่นกองทุน
สถานะกองทุนวันนี้มีกองทุนที่อยู่ในข่ายต้องฟื้นฟู 1.09 หมื่นกองทุน แบ่งเป็น 3 ประเภท 1.กลุ่มที่ฟื้นฟูใกล้เสร็จ เพียงแต่รอการประเมินใหม่ 2. อยู่ระหว่างการฟื้นฟู และ 3. กลุ่มไอซียูเรื้อรัง กลุ่มหลังนี้มี 5 พันกว่ากองทุน หรือประมาณ 6% ของจำนวนกองทุนทั้งหมด

สทบ.กำลังแยกชั้นกองทุนว่ามีปัญหาต้องดำเนินการอย่างไร เช่นปัญหาเป็นที่ตัวกรรมการ ก็จะให้เปลี่ยนแปลงกรรมการใหม่โดยสมาชิกเลือกกันเอง และขีดบัญชีให้กรรมการเก่ารับผิดชอบของเดิมไป กรรมการใหม่ก็เดินหน้าใหม่ โดยวางเป้าหมายว่าภายในปี2560 ในจำนวน 1.09 หมื่นกองทุนอย่างน้อย 50% ต้องจบ

ในเร็ว ๆนี้ สทบ.จะมีการประเมินกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศเป็นรอบที่ 4 คาดว่าก่อนเดือนกรกฎาคมปีนี้จะทราบผล เพื่อจะดูว่าแต่ละกลุ่มมีการพัฒนาไปจากเดิมอย่างไร หมื่นกองทุนเป็นกองทุนระดับ A,B และ C มี 30%,40% และ 20% ตามลำดับ ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 10% เป็นระดับ D จำนวนนี้กว่า 5 พันกองทุนอยู่ในขั้นไอซียู ขณะที่มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่เกิน 4% แต่การจะนับเป็น NPL ก็ต่อเมืื่อไม่มีผู้รับผิดชอบหนี้ แต่ตราบใดยังมีบุคคลที่รับผิดชอบหนี้และส่งคืนหนี้ได้ยังไม่ถือเป็นหนี้เสีย

 2.3 แสนล้านตอบโจทย์
กับคำถามที่ว่ารัฐจัดสรรให้เงินเปล่ากับกองทุนหมู่บ้านฯ (ตารางประกอบ) แนวทางไหนตอบโจทย์ตรงความต้องการของกองทุนได้มากที่สุด ผู้อำนวยการสทบ.กล่าวว่าสมาชิกค่อนข้างพอใจกับกระบวนการประชารัฐปี2559 ต่อด้วยปี 2560 คือปี 2559 รัฐบาลให้วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาทเป็นวงเงินลงทุนแบบให้เปล่าไปทำร้านค้าและปีนี้ให้อีก 1.5หมื่นล้านบาทเพราะเกิดประโยชน์ในวงกว้างไม่ใช่เฉพาะรายบุคคล

สร้างมูลค่ารายได้กลับคืนมา ขณะที่การให้เงินโดยที่กองทุนนำไปปล่อยกู้กับสมาชิกและนำส่วนต่างดอกเบี้ยกลับคืนเป็นเงินทุนหมุนเวียนตามรูปแบบเดิมนั้น สมาชิกก็พอใจแต่เป็นการช่วยรายบุคคล เช่นการให้กู้ยืมรายละ 2 หมื่นบาทก็ได้แค่ 50คน ผลที่ได้จะจำกัดไม่เต็มที่และทำลักษณะนี้อาจทำให้สมาชิกดิ้นรนไปกู้เพิ่ม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,258 วันที่ 4 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2560