รัฐเปิดรับซื้อไฟฟ้า 3 จังหวัดภาคใต้

02 พ.ค. 2560 | 07:38 น.
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกประกาศพร้อมหลักเกณฑ์การจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในแบบ Feed-in Tariff ประเภทเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา พ.ศ. 2560 ด้วยวิธีการคัดเลือกโดยการแข่งขันทางด้านราคา (Competitive Bidding) เพิ่มเติมให้ครบ 10 เมกะวัตต์

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษกของ กกพ. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ Feed-in Tariff หรือ FiT ประเภทเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ว่า กกพ. ได้ออกประกาศและหลักเกณฑ์ของโครงการดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2560 โดยการจัดหาไฟฟ้าในครั้งนี้เป็นการจัดหาเพิ่มเติมเพื่อให้ครบ 10 เมกะวัตต์ ตามกรอบนโยบายของมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จากที่เมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว กกพ. ได้ประกาศผลโครงการที่ผ่านการคัดเลือกในระยะที่ 1 ในกลุ่มเชื้อเพลิงประเภทก๊าซชีวภาพ จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการบาเจาะไบโอก๊าซ จังหวัดนราธิวาส ของบริษัท พลังงานไทยเสริมสุข จำกัด ที่ได้เสนอปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งจำนวน 2 เมกะวัตต์ ทำให้การรับซื้อไฟฟ้าของโครงการยังไม่ครบตามเป้าหมายอีก 8 เมกะวัตต์

“การรับซื้อไฟฟ้าในโครงการครั้งนี้ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายเหมือนกับครั้งที่แล้ว คือ พื้นที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสงขลา เฉพาะอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งจำนวนไม่เกิน 8 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ที่ตั้งโครงการต้องไม่ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และไม่ต้องห้ามในการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 นอกจากนี้ กกพ. ได้กำหนดวิธีการคัดเลือกโดยการแข่งขันทางด้านราคา (Competitive Bidding) และกำหนดอัตราสูงสุดของราคารับซื้อในประเภทก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของสีย) นี้ ไว้ที่ 3.76 บาทต่อหน่วย โดยผู้ที่ยื่นขอผลิตไฟฟ้าในโครงการนี้ต้องระบุกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562” นายวีระพล กล่าว

ในส่วนของขั้นตอนการประเมินและคัดเลือกคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้า กกพ. ได้แบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรกเป็นการประเมินคุณสมบัติและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค โดยผู้ยื่นต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นของโครงการที่เสนอ เช่น ต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน จำกัด
ที่จดทะเบียนในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งไม่รวมถึงผู้ผลิตไฟฟ้าที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ต้องไม่เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน Adder หรือเงินอุดหนุนอื่นๆ ต้องไม่เป็นโครงการที่เคยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ หรือต้องไม่เป็นโครงการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่กับการไฟฟ้า เป็นต้น และขั้นตอนที่สองเป็นการประเมินข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านราคา