กกร.ปรับคาดการณ์ส่งออกใหม่ขยายตัวได้ 2-3.5%

02 พ.ค. 2560 | 07:22 น.
กกร.ปรับประมาณการณ์ณ์ส่งออกปีนี้เพิ่ม เป็น 2-3.5% หลังแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีกว่าคาด แม้ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากนโยบาการค้าของสหรัฐฯ ระบุหลังทรัมป์ต่อสายตรง “ประยุทธ์” เชิญชวนไทยไปลงทุน ทำให้เอกชนเชื่อมั่นการค้าสองฝ่ายเป็นบวกมากขึ้น

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. (2 พ.ค.60)ได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะฟื้นตัวสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโลก  แม้ว่าจะยังคงมีความเสี่ยงจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศ  และลดการขาดดุลของสหรัฐฯ แต่การส่งออกโดยรวมถือว่าดีขึ้น  และในไตรมาสแรกขยายตัวมากกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะในกลุ่ม อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และชิ้นส่วน  ผลิตภัณฑ์ยาง  ขณะที่ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระหว่างจีนกับสหรัฐฯก็ลดความรุนแรงลง ประกอบกับเศรษฐกิจทางฝั่งยุโรป และสหรัฐฯมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จึงปรับเพิ่มประมาณการณ์ การส่งออกในปีนี้เป็นขยายตัว 2-3.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1-3% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ตามกรอบที่ประเมินไว้ที่ 3.5-4%

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯได้โทรศัพท์สายตรงมายังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ว่า เป็นสัญญาณเชิงบวกต่อความสัมพันธ์ และการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และเชื่อว่าจะมีความร่วมมือทางการค้ากับสหรัฐฯมากขึ้น รวมทั้งเชื่อว่าทางสหรัฐฯจะเชิญชวนไทยเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯมากขึ้นด้วย เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังขยายตัวได้ดี สหรัฐฯต้องการให้ประเทศต่างๆในอาเซียนเข้าไปร่วมลงทุนและทำการค้าด้วย ซึ่งการเชิญชวนครั้งนี้การแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯมองไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และเชื่อว่าแม้สหรัฐฯจะขาดดุลการค้ากับไทยในมูลค่าสูงมาก แต่ไม่น่าจะมีมาตรการกีดกันทางการค้า เพราะสินค้าหลายรายการ สหรัฐฯผลิตเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาการนำเข้า ขณะเดียวกันการส่งออกสินค้าของไทยไปสหรัฐฯ กว่า 40% เป็นสินค้าที่สหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในไทยเพื่อส่งออกกลับไปยังสหรัฐฯอีกครั้ง เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยางพารา ประมง และอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งภาคเอกชนพร้อมให้ข้อมูล และการสนับสนุนกับภาครัฐเพื่อใช้ในการเดินทางไปหารือ กับประธานาธิบดีสหรัฐฯ

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุ ถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทภายใน 3 ปีนั้น ยืนยันว่าภาคเอกชนพร้อมสนับสนุนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้มีความเหมาะสมกับทักษะฝีมือของแรงงาน ซึ่งขณะนี้แรงงานไทยส่วนใหญ่จะได้รับค่าแรงที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นแรงงานฝีมือ ซึ่งการที่รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำบางพื้นที่ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการพิจารณาแล้วว่าแต่ละพื้นที่มีความต้องการใช้ทักษะฝีมือแรงงานที่แตกต่างกัน ดังนั้น การจะปรับขึ้นค่าแรงให้เท่ากันทั่วประเทศ จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบด้านและสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย