พลังงานปรับแผนพีดีพีใหม่

04 พ.ค. 2560 | 08:00 น.
กระทรวงพลังงานเล็งปรับแผนพีดีพี2015 สั่งหน่วยงานตรวจสอบความสำเร็จ 5 แผนพลังงาน โดยเฉพาะแผนอนุรักษ์พลังงาน-พลังงานทดแทน หวั่นในอนาคตทำยากขึ้น "อารีพงศ์"ย้ำไม่ขยับสัดส่วนก๊าซเพิ่มแน่นอน ปลายแผนคงไว้ที่ 30-40% ขณะที่ถ่านหิน 20-25%

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ พ.ศ.2558-2579 หรือ(พีดีพี 2015) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดู 5 แผนพลังงาน เทียบกับข้อเท็จจริงว่าสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายเดิมที่วางไว้อยู่หรือไม่ โดยเฉพาะแผนอนุรักษ์พลังงานและแผนพลังงานทดแทนที่จะต้องเร่งการดำเนินงานมากขึ้น แต่ก็คงไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากในช่วงจากนี้ไป ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เตรียมออกประกาศเปิดรับซื้อไฟจากพลังงานทดแทนเพิ่ม อาทิ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร (โซลาร์ฟาร์ม) โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าขยะ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามในส่วนแผนอนุรักษ์พลังงาน ในอนาคตอาจทำได้ยากขึ้นหรือไม่ ดังนั้นจะต้องกลับมาพิจารณาอีกครั้ง
ขณะที่การปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงนั้น ในการปรับแผนพีดีพี2015 ใหม่ เบื้องต้นยังต้องคงสัดส่วนก๊าซธรรมชาติและถ่านหินตามแผนเดิม คือสัดส่วนก๊าซ ช่วงปลายแผนปี 2579 อยู่ที่ 30-40% และถ่านหิน ปลายแผนอยู่ที่ 20-25% เนื่องจากต้องการกระจายเชื้อเพลิง โดยเฉพาะก๊าซที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าลดลง จากปัจจุบันอยู่ที่ 64-65%

ส่วนกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขนาดกำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าเทพา ขนาดกำลังการผลิต 2 พันเมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ไม่สามารถเดินหน้าโครงการได้นั้น เบื้องต้นจะยังยึดสัดส่วนเดิมไว้ก่อน เพราะหากโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าวไม่สามารถเกิดขึ้นได้ก็ยังพิจารณาพื้นที่อื่นๆเข้ามาทดแทนได้

"ขณะนี้กำลังรอดูรายละเอียดข้อเท็จจริงของทั้ง 5 แผนก่อนว่า มีการดำเนินงานเป็นไปตามที่วางเป้าหมายไว้ได้หรือไม่ เพราะจะต้องนำมาประเมินเหตุการณ์และแนวทางเลือกต่างๆ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ให้มีการปรับแผนพีดีพีใหม่ ซึ่งได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแผนแล้ว"

นายอารีพงศ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ อาจจะต้องรอในส่วนการพัฒนาพลังงานทดแทนของกฟผ. ที่เคยเสนอมาจำนวน 2 พันเมกะวัตต์ ซึ่งได้สั่งให้ไปจัดทำรายละเอียดที่ชัดเจน เพื่อเสนอกลับมาให้กระทรวงพลังงานพิจารณาอีกครั้ง ว่าจะสามารถเข้าไปบรรจุอยู่ในแผนพีดีพีใหม่ได้ด้วยหรือไม่ เพราะภายหลังจากกฟผ.ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ โดยจะเน้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อให้พลังงานทดแทนมีความเสถียรในการจ่ายไฟฟ้ามากขึ้น อาทิ การพัฒนาเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Energy Storage) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีเสถียรภาพ และการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตไฟฟ้าได้บางช่วงเวลาให้พึ่งพาได้ตลอดเวลา โดยจับคู่แหล่งผลิตตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปในรูปแบบที่เรียกว่า Hybrid รวมถึงมีการเตรียมรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยพัฒนารถต้นแบบและสถานีชาร์จไฟฟ้า

ทั้ง แนวทางการพัฒนาพลังงานทดแทนของกฟผ.มีความชัดเจน ก็มีความเป็นไปได้ที่จะนำกำลังการผลิตในส่วนนี้เข้าไปบรรจุอยู่ในแผนพีดีพีได้ จากเดิมที่มีกำลังการผลิตเพียง 500 เมกะวัตต์ ที่บรรจุอยู่ในแผนเท่านั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,258 วันที่ 4 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2560