ที่ดินแพงลาม 200สถานีรถไฟ

05 พ.ค. 2560 | 04:00 น.
กูรูชี้ รัฐลุยรถไฟฟ้า 10สาย ดันราคาที่ดินแพงลาม กว่า 200สถานี กรุงเทพชั้นกลาง-ชานเมือง พลโยธิน ลาดพร้าว รัชดา ฝั่งธน คอนโดแพงหูฉี่ ตร.ม.ละ1 แสน บาท 3ล้านบาทต่อหน่วย หลังใจกลางกรุงที่หายาก-แพง

การขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ นอกจากสะดวกต่อการเดินทางแล้วยังเปิดทำเลใหม่ของคอนโดมิเนียม ไม่ให้กระจุดตัวเฉพาะใจกลางเมือง ที่เป็นต้นเหตุจากการแย่งชิงกระทั่งที่ดินแพงและมีจำกัด

นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โมเดิร์นพร็อพเพอร์ตี้คอนซัลแทนส์ จำกัด เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่าขณะนี้ การก่อสร้างรถไฟฟ้า 10สายช่วยเพิ่มสถานีรถไฟฟ้า ใหม่อีกกว่า 200 สถานีทั้งที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและ ที่เพิ่งเปิดให้บริการซึ่งช่วยให้เกิดการกระจายตัวของทำเลพัฒนาคอนโดมิเนียมให้ออกมายังกรุงเทพชั้นกลาง ชั้นนอกมากขึ้น และสามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้า จากเดิม จะกระจุกตัวเฉพาะทำเลใจกลางเมืองแนวรถไฟฟ้า 2สาย คือบีทีเอสและเอ็มอาร์ที ที่เปิดให้บริการแล้ว

อย่างไรก็ดีเมื่อรถไฟฟ้าขยายออกนอกเมืองส่งผลให้ ราคาที่ดินรอบสถานี ขยับสูงตาม ส่งผลต่อการขายคอนโดมิเนียม ขยับราคาตามไปด้วย อยู่ที่ตารางเมตรละ 1แสนบาทขึ้นไป หรือ เฉลี่ย 3ล้านบาทต่อหน่วย อาทิ ทำเลพหลโยธิน ลาดพร้าว รัชดาฯ บางนา แบริ่ง ฝั่งธน แต่ถือว่าราคาที่ดินและการขายต่อหน่วยของคอนโดฯ ยังต่ำกว่า ย่านใจกลางเมือง

MP33-3258-B นายวสันต์กล่าวต่อว่า รถไฟฟ้าช่วยกระจายทำเลคอนโดมิเนียมเพราะที่ผ่านมาจะกระจุกตัวเฉพาะใจกลางเมือง และเกิดการแย่งชิงที่ดิน ที่มีจำกัดและราคาแพงทำให้ ต้องพัฒนาคอนโดไฮเอ็นต์ ตารางเมตรละ 3 แสนบาทขึ้นไป ซึ่งต่อปีมีจำนวน 2,000 หน่วยจาก จำนวนหน่วยทั้งหมดในกทม. 7 หมื่นหน่วยต่อปี

“ขึ้นอยู่กับแหล่งงาน เช่นรถไฟฟ้าขยายต่อจากสาทรข้ามฝั่งไป บางหว้า หรือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทะลุไปฝั่งธน ย่าน จรัญสนิทวงศ์ บางแค เพชรเกษม ปิ่นเกล้า และ ฝั่งพลโยธิน ลาดพร้าว นอกจากนี้ รถไฟฟ้าบีทีเอสยังเชื่อมต่อจาก อ่อนนุช ไปยังบางนา แบริ่ง ปัจจุบัน ราคาคอนโดไม่เกิน 3 ล้านบาท”

นายวสันต์วิเคราะห์ว่า การขยายรถไฟฟ้า จะมีสถานีเพิ่มทำให้ มีทำเลเพิ่มมากขึ้นช่วยลดการแย่งชิงที่ดินลง เนื่องจากมีพื้นที่ให้พัฒนามากขึ้นและ ล้วนแต่ติดรถไฟฟ้า สำหรับ ทำเลที่กระจายตามแนวรถไฟฟ้า จะหยุดอยู่ที่ กรุงเทพชั้นกลาง หาก เป็นรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ –คูคต การพัฒนาและกำลังซื้อจะอยู่ไม่เกิน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สะพานใหม่ ขณะที่ ลำลูกกา ประเมินว่าไม่มีผู้ประกอบการกล้าลงทุนเนื่องจากมีบทเรียนจากรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่ บาดเจ็บกันมาก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,258 วันที่ 4 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2560