ศุภมิตร กิจจาพิพัฒน์ ต่อยอดธุรกิจสู่การลงทุนใหม่

03 พ.ค. 2560 | 08:00 น.
หลังปลุกปั้น “ศิริปันนา เชียงใหม่” จนขึ้นแท่นทำเนียบรีสอร์ตระดับ 5 ดาวของคนไทย โดยมีรางวัลระดับโลกการันตรีอยู่หลายรางวัล ล่าสุดก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงแรมที่มีการบริการยอดเยี่ยมในประเทศไทยประจำปี2559 จากเว็บไซต์ทริปแอดไวเซอร์ และไม่เพียงแต่ธุรกิจโรงแรมเท่านั้น ปัจจุบัน “ศุภมิตร กิจจาพิพัฒน์” ยังได้แตกไลน์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจเบเกอรี่ โฮมเมดคุณภาพ จนเครือศิริปันนา ปักธงธุรกิจหลากหลายในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

การขยายการลงทุนมาที่เชียงใหม่ เขามองว่าเป็นช่องทางและโอกาสที่ผมอยากแตกไลน์ธุรกิจอะไรที่แปลกใหม่ออกไป และมองว่ามันเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มพูน จากโลเกชันที่ดินในอำเภอเมืองที่เรามี ผสมผสานกับการสร้างเอกลักษณ์ของรีสอร์ต อันได้แรงบันดาลใจมาจากเวียงกุมกาม รวมถึงบรรยากาศทุ่งข้าวปันนา ทำให้เรากลายเป็นบูติก ลักชัวรี รีสอร์ต ที่มีจุดเด่นจากคาแรกเตอร์ของที่เราสร้างขึ้น

แม้รีสอร์ตแห่งนี้ จะได้รับการยอมรับอยู่แล้ว แต่เขาก็ไม่หยุดที่จะต่อยอดธุรกิจไปข้างหน้า โดยรูปแบบในการลงทุนใหม่ๆที่เกิดขึ้นของเขา มีทั้งการต่อยอดจากเซอร์วิสที่มีอยู่เดิม และการขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ เขาวางกลยุทธ์ในการพัฒนาธุรกิจไว้ว่า อย่างแรกต้องมองการต่อยอดจากเซอร์วิสในธุรกิจโรงแรมที่มีอยู่ โดยมองว่าจะสร้างรายได้จากส่วนไหนได้อีก ก็ขยายการลงทุนไปตรงนั้น

นี่เองจึงทำให้คุณศุภมิตร จึงได้สร้างห้องประชุมที่สามารถรับแสงเดย์ไลต์ เพื่อรองรับตลาดไมซ์ ห้องอาหารอิตาเลียนในสไตล์เอาต์ดอร์ และโซนห้องพักวิงใหม่ในแบบพลันซ์พูล แอ็กเซส ที่เพิ่งจะเปิดให้บริการ ซึ่งเขาย้ำว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ภายในรีสอร์ต ที่เดิมยังไม่ได้มีการใช้ประโยชน์เต็มที่ มาขยายการลงทุนใหม่ๆที่จะช่วยเติมเต็มให้ฟังก์ชันของโรงแรมต่างๆค่อนข้างมีเซอร์วิสที่แน่นขึ้น และนำมาซึ่งการเพิ่มรายได้ที่จะเกิดขึ้น และเขายังให้ความสำคัญถึงการยกระดับการให้บริการของพนักงาน

ความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจโรงแรม เขามองว่าต้องทำให้เกิด 4 C ให้ได้ คือ Comfortabel ทำให้ลูกค้ารู้สึกสะดวกสบายในการเข้าพัก ,Care ความใส่ใจในการให้บริการ, Clean ความสะอาด และ Create คือ การสร้างสรรค์การบริการและโปรดักต์ให้ลูกค้าประทับใจ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่งานฮาร์ดแวร์ที่สะท้อนออกมาจากรูปลักษณ์ของรีสอร์ตที่ลูกค้ามองเห็นเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่ซอฟต์แวร์ นั่นก็คือพนักงานที่ต้องบริการด้วยใจด้วย และเราต้องไม่หยุดที่จะพัฒนา เพื่อทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจสูงสุด

นอกจากนี้คุณศุภมิตร ยังฉายภาพถึงการต่อยอดการเข้าสู่ธุรกิจใหม่อย่างเบเกอรี่ ว่าด้วยรีสอร์ตมีครัวอยู่แล้ว และทุกวันก็ต้องบริการอาหารให้แก่ลูกค้าในทุกมื้อ รวมถึงเบเกอรี่ในโรงแรม ทำให้เขาจึงมองว่าหากทยอยเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นไปอีกนิด จึงทำให้เครือศิริปันนา สามารถสร้างรายได้เพิ่มจากธุรกิจเบเกอรี่ จึงเป็นที่มาในการสร้างแบรนด์ “กัสท์เค้ก” เบเกอรี่ โฮมเมดคุณภาพขึ้นมา ซึ่งไม่เพียงวางขายอยู่ภายในโรงแรมเท่านั้น แต่ยังมีการจัดจำหน่ายอยู่ใน บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ และมินิบิ๊กซี กว่า 10 สาขาในจ.เชียงใหม่และจ.ลำพูน

ปัจจุบันครัวของโรงแรม สามารถผลิตเบเกอรี่มาวางขายแล้วราว 10 กว่าชนิด ไม่ว่าจะเป็นมาการอง , เค้กกล้วยหอม โดยเจ้าตัววางตำแหน่งทางการตลาดไว้ว่า กัสท์เค้ก จะเป็นแบรนด์ระดับคุณภาพระดับเดียวกับที่ขายโรงแรม แต่คนทั่วไปสามารถซื้อได้ เขาเผยว่าสเต็ปต่อไปก็ยังเห็นโอกาสในการขยายกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นได้ รวมถึงการสร้างสรรค์เบเกอรี่สูตรใหม่ๆ เพื่อวางจำหน่ายกัสท์เค้ก ในจุดที่เราสามารถขนส่งได้ คือ ทำเลในพื้นที่ภาคเหนือนั่นเอง

ไม่เพียงการต่อยอดจากเซอร์วิสในธุรกิจโรงแรมเท่านั้น ด้วยความที่เขาปักหลักอยู่ในเชียงใหม่มาพอสมควร ทำให้เขารู้ลู่ทางทางการตลาด ว่าจุดไหนจะขยายการลงทุน จึงเป็นที่มาทำให้เครือศิริปันนา ได้ก้าวสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งแนวสูงและแนวราบ โดยการเปิดตัว 2 คอนโดมิเนียม คือ “พาราโน่ คอนโด แอท เชียงใหม่” ติดถนนใหญ่เส้นมหิดล และ “แกรนด์ พาราโน่” ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี โดยมียอดโอนแล้วกว่า 90% และล่าสุดก็เปิดตัว “เอกลักษณ์ สันทราย” บ้านหรูในรูปแบบโมเดิร์นทรอปิคัล ที่กำลังอยู่ระหว่างเปิดการขาย

“การตัดสินใจลงทุนที่เกิดขึ้น ผมชอบทำอะไรที่ผมคิดว่าตรงนั้นมันมีกำลังซื้อมากพอ และมีดีมานด์มากพอ ส่วนการตัดสินใจว่าจะลงทุนอะไร ผมจะดูเรื่องโลเกชันเป็นหลักว่าตลาดตรงจุดนั้นมีความต้องการอะไรที่จะตอบโจทย์สูงสุดในการลงทุน ก็จะโฟกัสการลงทุนไปยังธุรกิจนั้นๆ และแม้การเริ่มต้นธุรกิจ ในอีกทางก็เหมือนต้องเข้าสู่การแข่งขันกับธุรกิจที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม หรือเบเกอรี่ แต่ผมมองว่าจริงๆตลาดมันก็เหมือนเค้กยังไงกินคนเดียวก็คงไม่หมด แต่จะกินอย่างไรให้ได้เยอะที่สุดต่างหาก”

เขายํ้าว่า แม้การดำเนินธุรกิจในทุกเรื่อง จะไม่ได้ตั้งต้นมาจากประสบการณ์โดยตรงที่ผมมี แต่ผมมองว่า ทุกคนไม่มีใครเก่งทำได้ทุกอย่าง แต่ต้องขวนขวายที่จะเรียนรู้ ทำให้แม้แต่ตัวผมเอง ก็ต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้ และส่งต่อองค์ความรู้ให้กับพนักงานในองค์กรของเราด้วย ซึ่งต้องยอมรับว่าทีมงานของเราส่วนใหญ่เป็นโลคัล ที่มักจะยึดติดกับสิ่งเดิมๆ เราจึงต้องให้นํ้าหนักกับการเทรนนิ่งให้เขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ มองในภาพรวม ไม่ใช่มองแต่ในพื้นที่ เพื่อยกระดับและสร้างทีม อันจะนำไปสู่การทำงานที่ประสบความสำเร็จนั่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,258 วันที่ 4 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2560