สยามเฮิร์บส์ หาช่องเจาะ CLMV เปิดนวัตกรรมใหม่ 2 ผลิตภัณฑ์-ซุ่มปักฐานกัมพูชา

04 พ.ค. 2560 | 04:00 น.
“สยาม เฮิร์บส์” เตรียมเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ 2 ผลิตภัณฑ์รวด ด้านอาหารและกลุ่มไล่แมลง มั่นใจตรงเป้าผู้บริโภคในชีวิตประจำวัน พร้อมอยู่ระหว่างทดลองตลาดรวมถึงหาพันธมิตรร่วมทุนใน CLMV หากเจรจาสำเร็จปี 61 ตั้งโรงงานผลิตนํ้าส้มหมักนำร่องก่อน

นายสุวิจักขณ์ กิตติวโรฬาร ประธานกรรมการบริหาร หจก.สยาม เฮิร์บส์ เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจว่าในปีนี้บริษัทเตรียมเปิดตัว 2 ผลิตภัณฑ์ใหม่ด้านอาหารและผลิตภัณฑ์ไล่แมลง แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ จนกว่าจะเปิดตัวในงาน"ไทยแลนด์ อินโนเวชั่น"ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายนนี้ ที่กระทรวงพาณิชย์จัดขึ้น หลังจากที่มีเสียงเรียกร้องจากผู้บริโภคปลายทาง

ปัจจุบันธุรกิจของบริษัทมีผลิตภัณฑ์หลากหลายแต่สินค้าทุกตัวจะเน้นที่การใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ100% แต่ละผลิตภัณฑ์จะใส่นวัตกรรมเข้าไป โดยผู้บริโภคปลายทางจะได้รับประโยชน์ที่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่สุดโดยเฉพาะในชีวิตประจำวันที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกครัวเรือน เช่น มีหนูบนฝ้าหลังคา มีกลิ่นที่เท้า เป็นต้นโดยผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจะมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์และใกล้ตัวที่สุด

นอกจากนี้ล่าสุดบริษัทอยู่ระหว่างทดลองขายสินค้ในตลาดCLMV รวมถึงการหาพันธมิตรร่วมทุนในตลาดดังกล่าวด้วย ซึ่งหลังทดลองตลาดมาได้4-5เดือนพบว่าผลิตภัณฑ์น้ำส้มสายชูหมักข้าวกล้องได้รับความสนใจ ในประเทศกัมพูชา และสปป.ลาว และมีความคืบหน้าในการเจรจาร่วมทุนกับนักธุรกิจท้องถิ่นในกัมพูชา เพื่อตั้งโรงงานผลิตน้ำส้มสายชูหมักข้าวกล้อง หากการเจรจาสำเร็จภายในปีนี้คาดว่าปี 2561ก็จะเริ่มลงทุนนำร่องได้

สำหรับช่องทางการจำหน่ายเน้น 2 ช่องทางหลักคือ90% ขายส่งไปยังตลาดต่างประเทศโดยมีตลาดหลักอยู่ที่จีน มีเป้าหมายเจาะกำลังซื้อในตลาดที่มีขนาดใหญ่ 1,600 ล้านคน และ10% เน้นวางขายในท้อปซุปเปอร์มาเก็ต นอกจากนั้นจะเป็นการขายในงานแสดงสินค้าเพื่อประชาสัมพันธ์แบรนด์ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เนื่องจากในแต่ละปีบริษัทจะพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ออกสู่ตลาดเพื่อให้ผู้บริโภคเห็นว่าเรามีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

"ส่วนการขายผ่านออนไลน์ยังไม่ได้ไปสู่การขายในช่องทางนั้น เนื่องจากสินค้าต้องใส่คำอธิบาย ให้ความรู้ คำแนะนำวิธีใช้ จะต้องอธิบาย ซึ่งขายผ่านออนไลน์ทำได้ยาก"

ประธานกรรมการบริหาร หจก.สยาม เฮิร์บส์กล่าวถึงการจุดประกายความคิดที่หันเหจากชีวิตราชการมาสู่การทำธุรกิจของตัวเอง เนื่องจากต้องการนำพืชสมุนไพรในประเทศซึ่งมีหลายชนิดนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด โดยใส่นวัตกรรมเข้าไปเพื่อรักษาสินค้าที่ผลิตให้อยู่ในตลาดได้นานที่สุด และถูกลอกเลียนแบบยาก หรือเลียนแบบได้ไม่เหมือน 100% โดยสินค้าจดอนุสิทธิบัตรทุกตัว เหล่านี้เป็นเครื่องหมายการันตีให้สินค้ามีมูลค่า และอยู่ในตลาดได้นานอย่างตลาดส่งออกที่ทำรายได้หลักให้กับบริษัท ทำให้มียอดขายรวมที่เข้ามาเติบโตจาก 5 แสนบาทต่อปีเพิ่มเป็นไม่เกิน20 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตามอยากฝากถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีน้องใหม่ที่ต้องการความก้าวหน้าทางธุรกิจต้องหันมาให้ความสำคัญในเรื่องนวัตกรรมก่อน เพื่อรักษาฐานสินค้าให้อยู่ในตลาดนานที่สุด และเพื่อให้เกิดการลอกเลียนแบบยาก เพราะถ้าไม่ใส่เรื่องนวัตกรรมเข้าไป สินค้าจะถูกลอกเลียนแบบได้ง่าย เมื่อสินค้าชนิดเดียวกันมีวางจำหน่ายมากขึ้นทำให้ราคาตก ขายไม่ได้เพราะเกิดคู่แข่งมากมายที่กระโดดเข้ามาในตลาด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,258 วันที่ 4 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2560