พาณิชย์จับตาเศรษฐกิจภาคกลางสะท้อนค่าครองชีพ

01 พ.ค. 2560 | 02:48 น.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยถึงผลการดำเนินงาน 3 เดือนแรกปี 2560 ของพาณิชย์ภาค (Mini MOC 3) และพาณิชย์จังหวัดภาคกลาง 20 จังหวัดเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ รวมทั้งท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งอุทยานประวัติศาสตร์ น้ำตก ภูเขา ทะเล ครอบคลุมจังหวัดปริมณฑลรอบกรุงเทพฯ การจดทะเบียนธุรกิจพุ่งกว่า 260 % เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ผลักดันให้เกิดกิจกรรมในตลาดชุมชนและตลาดต้องชมเพื่อขยายการค้าและการท่องเที่ยวในพื้นที่

สถานการณ์สินค้าเกษตรในจังหวัดภาคกลางเป็นช่วงการผลิตข้าวนาปรังซึ่งผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดไม่มากนัก ราคาข้าวเปลือก (ชนิด 5 %) ปริมาณ 7,500-7,600 ตัน ส่วนสินค้าผลไม้เป็นช่วงที่ผลผลิตหลายชนิดออกสู่ตลาดอาทิ มะพร้าว สับปะรด กล้วย ชมพู่ ส้มโอ ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะมะพร้าวน้ำหอมซึ่งตลาดมีความต้องการอย่างต่อเนื่องราคาค่อนข้างสูง ราคาขายหน้าสวนผลละ 15-20 บาท ในขณะที่สับปะรดส่งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปซึ่งมีความต้องการอย่างต่อเนื่องราคาอยู่ในเกณฑ์ดี กิโลกรัมละ 7-8 บาท สินค้ามะพร้าวกะทิ มีแหล่งผลิตใหญ่อยู่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ราคาอยู่ในเกณฑ์ดีมาตลอด ราคาเฉลี่ยผลละ 20-25 บาท และมีแนวโน้มจะไม่เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากปัญหาการระบาดของโรคหนอนหัวดำทำให้ผลผลิตลดลง ซึ่งทางจังหวัดร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังเร่งแก้ไขปัญหา

ด้านปศุสัตว์ ได้แก่ สุกร ไก่เนื้อ ไก่ไข่ มีแหล่งผลิตอยู่ในจังหวัดนครปฐม ราชบุรี และบริเวณภาคกลางตอนบน ราคาอ่อนตัวลง สุกรมีชีวิตราคาเฉลี่ย 58-60 บาท/กก. และราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มราคาเฉลี่ย 2.30-2.40 บาท/ฟอง ส่งผลให้เกษตรกรประสบปัญหาราคาที่ขายได้ไม่คุ้มทุน พาณิชย์ภาคและกลุ่มพาณิชย์จังหวัดได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยจัดสถานที่ให้เกษตรกรนำผลผลิตมาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง สำหรับสินค้าเกลือทะเลซึ่งมีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ในปีนี้ผลผลิตมีปริมาณลดลง เนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่ทำนาเกลือมาตั้งแต่ช่วงต้นปี ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการผลิต ประกอบกับมีการเชื่อมโยงตลาดเกลือกับจังหวัดต่างๆ หลายจังหวัด ส่งผลให้ราคาซื้อขายเกลือทะเลอยู่ในเกณฑ์ดีคือ 1,500 บาท/ตัน เทียบกับปีก่อนราคา 900 บาท/ตัน

นอกจากนี้จังหวัดในภาคกลางยังได้ส่งเสริมตลาดชุมชนให้มีกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลายเปิดโอกาสให้ประชาชนนำสินค้าหัตถกรรมที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น ผลผลิตของท้องถิ่นมาจำหน่ายโดยตรง โดยได้พัฒนาตลาดให้สะอาด สวยงาม เป็นระเบียบ ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาจับจ่ายใช้สอย และประชาสัมพันธ์ให้เป็นตลาดต้องชมในความส่งเสริมของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เช่น ตลาดท่าย์น้ำข้ามภพ ตลาดน้ำบางน้อย ตลาดถนนคนเดินปราณบุรี ตลาดบางระจัน ตลาดต้าน้ำโบราณ ตลาดน้ำวัดหนองพะอง ตลาดอมยิ้ม เป็นต้น

การค้าชายแดนด้านจังหวัดสระแก้วซึ่งมีเขตแดนติดต่อกับประเทศกัมพูชาทางทิศตะวันออก มีจุดผ่านแดนถาวร 1 แห่ง ที่ด่านบ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ ติดต่อกับบ้านปอยเปต อำเภอโอวโจรว จังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา และมีจุดผ่อนปรนอีก 3 แห่ง ในท้องที่อำเภอคลองหาด อรัญประเทศ และตาพระยา ซึ่งการค้าขายบริเวณด่านชายแดนและจุดผ่อนปรนเป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนชาวกัมพูชาเดินทางเข้ามาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค และอาหารสดเป็นส่วนใหญ่ ส่วนสินค้าของกัมพูชาที่ส่งมาขายยังประเทศไทยจะเป็นสินค้าเกษตรได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ส่งผลไม้ที่มูลค้าชายแดนไทยกับกัมพูชาทางด้านจังหวัดสระแก้วมีมูลค่าปีละกว่า 60,000 ล้านบาท

สำหรับจังหวัดชายแดนของภาคกลาง ด้านทิศตะวันตกที่มีการค้าขายกับเมียนมา ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ซึ่งเป็นการค้าผ่านจุดผ่อนปรนจะเป็นการนำก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาเข้ามายังประเทศไทยทางจังหวัดกาญจนบุรี ส่วนจุดผ่อนปรนด่านสิงขรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แม้ปัจจุบันมีมูลค่าการค้าไม่มากนัก แต่ในอนาคตหากมีการอนุญาตให้ชาวเมียนมาเข้ามาท่องเที่ยว เข้าพักในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้นานขึ้นจากเดิม 4 วัน เป็น 7 วัน คาดว่าจะช่วยให้การค้าและการท่องเที่ยวในจังหวัดขยายตัวเพิ่มขึ้น

“จังหวัดภาคกลางมีศักยภาพในการผลิตข้าว ปศุสัตว์ อาหารทะเล พืชผักผลไม้ ส่งขายในกรุงเทพมหานคร และตลาดต่างๆ ทั่วประเทศ สินค้าเกษตรส่วนใหญ่ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี หลายจังหวัดได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ ส่งผลให้เศรษฐกิจภาคกลางโดยรวมขยายตัวเพิ่มขึ้น” นางอภิรดี กล่าว