สหรัฐฯคงสถานะไทยเป็นประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ

30 เม.ย. 2560 | 03:07 น.
สหรัฐฯคงสถานะไทยเป็นประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) แต่มีโอกาสทบทวนสถานะให้ดีขึ้นในปีนี้

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้ประกาศผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2559 โดยสหรัฐฯ ยังคงจัดไทยเป็นประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List – PWL) ต่อไป หลังจากที่อยู่บัญชี PWL มาตั้งแต่ปี 2550 อย่างไรก็ดี USTR ระบุในรายงานด้วยว่าพร้อมที่จะทบทวนสถานะของไทยให้ดีขึ้นในปีนี้หากไทยยังคงมีความก้าวหน้าเชิงบวกในการแก้ไขปัญหาข้อกังวลด้านทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ

“แม้ไทยจะคงอยู่ในสถานะเดิมแต่หากดูในเนื้อหารายงานจะเห็นว่า มีความแตกต่างจากรายงานผลการจัดสถานะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กล่าวคือ สหรัฐฯ ตระหนักถึงเจตจำนงที่แน่วแน่ในระดับนโยบายของไทย โดยเฉพาะกรณีที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวต่อสาธารณชนถึงความสำคัญของการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบ่อยครั้ง ตลอดจนมีการกำหนดแผนที่นำทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาระยะ 20 ปี (IP Roadmap) ที่รวมถึงเรื่องการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน ซึ่งทำให้การบูรณาการระหว่างหน่วยงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมุ่งเน้นเป้าหมายการสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดมากขึ้น”นางอภิรดี กล่าว

ในส่วนข้อกังวลที่สหรัฐฯ เคยระบุในรายงานในปีที่ผ่านมา อาทิ ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในท้องตลาดและการละเมิดออนไลน์ และปัญหางานค้างการจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า สหรัฐฯ เห็นว่า ไทยได้ดำเนินการในทิศทางที่เหมาะสมแล้ว รวมทั้งการเพิ่มจำนวนผู้ตรวจสอบของกรมทรัพย์สินทางปัญญา

ทั้งนี้ นางอภิรดี เห็นว่า ข้อกังวลของสหรัฐฯ ในการประเมินสถานะที่ผ่านมารวมทั้งในครั้งนี้ มีหลายเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยเองจะต้องนำมาพิจารณาในบริบทที่เหมาะสม บางเรื่องเราสามารถที่จะทำความเข้าใจเพิ่มเติมกับสหรัฐฯ ได้ ตัวอย่างเช่น เรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ในประเด็นการคุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยี การคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิ และการป้องกันการแอบถ่ายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ ซึ่งสหรัฐฯ แสดงความกังวลมาอย่างต่อเนื่อง กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เคยเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งเจ้าของลิขสิทธิ์ทั้งไทยและต่างประเทศ แต่ก็ไม่มีเจ้าของลิขสิทธิ์รายใดนำเสนอข้อมูลว่ามีปัญหาอุปสรรคแต่อย่างใด

เนื่องจากข้อกังวลส่วนหนึ่งที่สหรัฐฯ ระบุในรายงานหรือต้องการผลักดันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เช่น กรณีกฎหมายภาพยนตร์ให้อำนาจคณะกรรมการตามกฎหมายในการกำหนดโควตาภาพยนตร์ต่างประเทศ กรณีร่างกฎหมายความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารของภาคเอกชน กรณีการให้ความคุ้มครองข้อมูลผลการทดสอบยาและเคมีภัณฑ์เกษตร ที่สหรัฐฯ ต้องการยกระดับความคุ้มครอง และกรณีการกำหนดมาตรการด้านสาธารณสุข ที่สหรัฐฯ เน้นย้ำว่าควรมีกระบวนการที่โปร่งใสและเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเจ้าของสิทธิได้เข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ในการนี้กระทรวงพาณิชย์จึงจะรายงานผลการจัดสถานะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบด้วย

ในลำดับต่อไป ไทยจะดำเนินการตามแผนที่นำทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Roadmap) อย่างจริงจังและต่อเนื่องต่อไป เพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย และโดยประการสำคัญ เพื่อพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยเอง เนื่องจากทรัพย์สินทางปัญญาเป็นกลจักรสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการเติบโตด้านการค้าและการลงทุน ตลอดจนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางประเทศไทย 4.0