ตอกย้ำภาวะศก.Q1ฟื้นชัด สภาอุตฯ-สศอ.ชี้ชัดภาคผลิต-ความเชื่อมั่นดีต่อเนื่อง

03 พ.ค. 2560 | 04:00 น.
สศอ.และส.อ.ท.ย้ำภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสแรกฟื้นชัดเจน ภาคการผลิตอุตสาหกรรมขยายตัว 0.1 % บวกกับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังมีความกังวลความผันผวนของค่าเงินบาท จี้ให้ธปท.ช่วยดูแล
หลายหน่วยงานกำลังออกมาเปิดเผยตัวเลขการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ออกมาระบุถึงการขยายตัวของการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ไปแล้วขยายตัวที่ระดับ 4.9 % เทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน และขยายตัวในระดับ 9.2 % ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดี

ขณะเดียวกันทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สงอ.ท.) ได้ออกมาย้ำถึงความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในเดือนมีนาม ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ 87.5 จากเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 86.2 ที่สะท้อนมาจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นจากการขยายตัวของยอดคำสั่งซื้อที่เข้ามาต่อเนื่อง และล่าสุดทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ได้ออกมาระบุเช่นเดียวกันว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(เอ็มพีไอ) ที่เป็นตัวสะท้อนการฟื้นตัวของภาคการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนมีนาคม ขยายตัวอย่างมากจากเดือนกุมภาพันธ์ถึง 12.13 % แม้ความผันผวนจากค่าเงินบาทที่อาจทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงด้านต้นทุนสูงขึ้น แต่ในภาพรวมดัชนีเอ็มพีไอในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวที่ 0.1 % แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรม ที่ทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิต ที่เป็นผลจากกำลังการซื้อในประเทศและจากต่างประเทศดีขึ้น

โดยเห็นได้จากภาพรวมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสแรกขยายตัวที่ 6.2 % โดยเฉพาะเดือนมีนาคมขยายตัวถึง 10.2 % จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม เครื่องปรับอากาศ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เหล็ก เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังเห็นสัญญาณการนำเข้าสินค้าทุนในช่วงไตรมาสแรกขยายตัวที่ 3.5 % และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัว 14.6 % ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้ผลิตมียอดคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลิตส่งมอบในเดือนถัดๆ ไป ซึ่งอุตสาหกรรมที่จะมีขยายตัวต่อเนื่องได้อีกในช่วงไตรมาสที่ 2 เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จากไตรมาสแรก ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14.16 % อุตสาหกรรมเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค จากไตรมาส ปรับตัวเพิ่มขึ้น 18.03 %

อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน จากไตรมาสแรกการผลิตปรับตัวเพิ่มขั้น 9.59 % อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ จากไตรมาสแรกการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.18 % จากสินค้าปลาและปลาหมึกแช่แข็ง เป็นต้น

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจะปรับตัวดีขึ้น เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงิน เนื่องจากปัจจุบันค่าเงินบาทมีการแข็งค่าขึ้นมามาก ซึ่งอาจจะมีผลทำให้ประเทศอื่นมีโอกาสในการส่งออกได้มากกว่า โดยค่าบาทที่มองว่ามีความเหมาะสมน่าจะอยู่ในช่วงประมาณ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่ควรแข็งค่าไปมากกว่านี้

โดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้มีข้อแนะนำให้ทำประกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน แต่ผู้ประกอบการหลายรายไม่ต้องการที่จะทำ เนื่องจากในบางเวลาแทนที่จะได้เปรียบเรื่องของค่าเงินก็อาจจะไม่ได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,257
วันที่ 30 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560