รถไฟทางคู่ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น กระจายความเจริญสู่อีสานยันอาเซียน

03 พ.ค. 2560 | 11:00 น.
เริ่มวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 ล่าสุดผลงานการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่า 11% โดยรถไฟทางคู่เส้นทางนี้มุ่งกระจายความเจริญด้านท่องเที่ยว-ขนส่ง สู่ภาคอีสานเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและจัดเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ว่าด้วยการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง หรือการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ได้ลงนามสัญญาว่าจ้าง กิจการร่วมค้าซีเคซีเอช (บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ช.ทวีก่อสร้าง จำกัด) ดำเนินงานก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางดังกล่าว

รถไฟทางคู่ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่นนี้ถือเป็นโครงการสำคัญที่ตอบสนองนโยบายรัฐบาล มุ่งเน้นและส่งเสริมการพัฒนาระบบรางให้มีบทบาทสำคัญต่อภาคการขนส่ง ช่วยพัฒนาศักยภาพการเดินรถ และการขนส่งทางรถไฟ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ทั้งด้านการท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้า ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายการเดินทาง ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงในภาคการขนส่ง ร.ฟ.ท. จึงมีแผนการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่อย่างต่อเนื่องเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมพื้นฐานอื่นๆ เน้นการบริหารจัดการขนส่งมวลชน สินค้า และบริการ ทั้งในพื้นที่ชนบท เมือง และระหว่างประเทศเข้าด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยจะเป็นการก่อสร้างทางคู่ระยะทางประมาณ 187 กิโลเมตร รูปแบบก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มอีก 1 ทางขนานไปกับเส้นทางรถไฟเดิมมีสถานีรับ-ส่งผู้โดยสารจำนวน 19 สถานี โดยมีสถานีย่านเก็บกองและขนถ่ายสินค้าตู้สินค้า(CY) รวม 3 แห่ง ได้แก่ สถานีบ้านกระโดน สถานีบัวใหญ่ และสถานีท่าพระได้มีการยกเลิกจุดตัดทางรถไฟที่เสมอระดับกับถนนทุกแห่ง และก่อสร้างทางต่างระดับในตำแหน่งที่มีความเหมาะสมแทน มีการก่อสร้างรั้วตลอดแนวเส้นทางรถไฟ จึงเป็นการเพิ่มความจุของทางรถไฟ ตลอดจนความเร็วและความปลอดภัยในการให้บริการโดยทางรถไฟส่วนใหญ่เป็นทางระดับพื้น ยกเว้นช่วงสถานีขอนแก่นเป็นโครงสร้างทางยกระดับระยะทางประมาณ 5.4 กิโลเมตรเพื่อยกระดับผ่านพื้นที่ชุมชน ระยะเวลาในการก่อสร้าง 36 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2562โดยช่วง 50 กิโลเมตรแรกจากสถานีบ้านเกาะไปยังสถานีเมืองคงจะสามารถเปิดใช้งานได้ก่อนภายในเดือนตุลาคม 2560 นี้

โครงการดังกล่าวจะเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางและขนส่งสินค้า รวมทั้งระบบโลจิสติกส์ของประเทศ สามารถรองรับปริมาณความต้องการเดินทางและขนส่งสินค้าทางรถไฟในเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่งจากถนนไปสู่ราง โดยพบว่ามีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูง ครม.จึงเห็นชอบให้เร่งดำเนินการก่อสร้างคาดว่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารและสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 27,200-38,800 คนต่อวัน และเพิ่มขึ้นเป็น 37,000-55,000 คนต่อวันในปี 2577 และคาดการณ์ปริมาณขนส่งสินค้าที่ผ่านเส้นทางประมาณ 10,900-11,300 ตันต่อวัน และเพิ่มขึ้นเป็น 36,400 ตันต่อวันในปี 2577

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,257
วันที่ 30 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560