แก้ลำ‘ลูกหนี้ตุกติก’ ตั้งจพท.เอกชนขายทรัพย์ ยอดยึดคดีล้ม 6.7 หมื่นล้าน

03 พ.ค. 2560 | 12:00 น.
กรมบังคับคดียกร่าง 3 ฉบับ ตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชนเปิดทางขายทอดตลาดแทน หวังลดขั้นตอนขายทรัพย์ ล้างบางพฤติกรรมลูกหนี้ถ่วงคดี และเปลี่ยนบทบาทไปเป็นหน่วยงานแนะนำตรวจสอบบุคคลล้มละลายยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20ปี กรมมีแนวทางจัดตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภาคเอกชนเพื่อทำหน้าที่แทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์(จพท.)ของกรมบังคับคดี ที่จะถูกปรับบทบาทขึ้นเป็นหน่วยงานที่ให้คำแนะนำ และตรวจสอบบุคคลล้มละลายที่มีพฤติกรรมยักย้าย หรือ ปิดบังทรัพย์สินเท่านั้น

“จุดอ่อนของการบังคับคดีล้มละลายคือต้องรู้เท่ากันของข้อมูล ซึ่งเราต้องคิดเชิงรุกเพื่อให้ได้ข้อมูล เพราะที่ผ่านมาลูกค้าในคดีล้มละลายให้ข้อมูลไม่ครบ บ้างไม่ยอมให้ข้อมูล หรือที่ผ่านมาเจ้าหนี้ร้องทุกข์หลักประกันหาย สินค้าในโกดังหาย แต่ต่อไปข้อมูลพวกนี้เราสืบย้อนหลังได้โดยจะลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีและปรับโครงสร้างองค์กรนำข้อมูลมาวิเคราะห์ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมบังคับคดีจะมีกองสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีอาญาด้วย”

นางสาวรื่นวดี กล่าวว่า แนวทางจัดตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน ถือว่าเป็นการปฎิรูปการบังคับคดีทั้งระบบเพื่อลดขั้นตอนดำเนินการ ลดโอกาสของการประวิงเวลา โดยกรมบังคับคดี จะดำเนินการยกร่างกฎกระทรวง 3ฉบับคือ ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ของบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ปฎิบัติการแทนเจ้าพนักงานบังคับคดีพ.ศ..

ร่างที่ 2 กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขายทอดตลาดพ.ศ..และร่างที่ 3 กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขายทอดตลาดด้วยวิธีอิเลคทรอนิกส์พ.ศ.(เสร็จเรียบร้อยแล้วอยู่ระหว่างเสนอคณะทำงาน)

ทั้งนี้กรมบังมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่กำหนดเป็นวาระการประชุมของสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศในวันที่ 1พฤษภาคมนี้

ร่างกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับเพื่อรองรับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่...)ภาคบังคับคดีซึ่งอยู่ในขั้นตอนพิจารณาให้ความเห็นชอบในวาระที่ 2และ 3ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)
อย่างไรก็ตามทั้งด้านการบังคับคดีและแพ่งและล้มละลายกรมมุ่งพัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่องทั้งในแง่ของอำนวยความสะดวกทั้งลูกหนี้เจ้าหนี้และผู้ใช้บริการ เช่น จะเริ่มส่งคำสั่งคดีล้มละลายผ่านอิเลคทรอนิกส์ และพร้อมให้ประชาชน หรือผู้เกี่ยวข้องสามารถหาข้อมูลผ่านอิเลคทรอนิกส์ได้ตั้งแต่วันที่1พฤษภาคม 2560

โดยก่อนหน้านี้กรมบังคับคดีได้เชื่อมโยงข้อมูลหมายบังคับคดีทางอิเลคทรอนิกส์กับศาลแพ่งธนบุรีและนำข้อมูลดำเนินการและจะเป็นจุดเริ่มต้นขยายความร่วมมือไปยังศาลต่างๆและพัฒนาเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงการเร่งรัดการทำบัญชีรับจ่ายเงินในคดีแพ่งภายในระยะเวลาไม่เกิน 45วันกรณีไม่มีเหตุข้อข้องในการทำบัญชี

ขณะเดียวกันปัจจุบันกรมบังคับคดีอยู่ในขั้นตอนจะเชื่อมโยงฐานข้อมูลลูกหนี้ล้มละลายกับ 18 หน่วยงาน โดยทยอยทำความตกลงร่วมกัน เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.)ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นต้น

สถิติการบังคับคดีล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2560 คดีแพ่งจำนวน 16,559 เรื่อง ทุนทรัพย์ 3.19 หมื่นล้านบาท ดำเนินการแล้วเสร็จ 13,256 เรื่อง ทุนทรัพย์ 1.25 หมื่นล้านบาท ส่วนยอดสะสมไตรมาสที่ 1 ของปีงบ 2560 รวม 48,894 เรื่อง ทุนทรัพย์ 6.56 หมื่นล้านบาท ดำเนินการแล้วเสร็จ 36,141 เรื่อง ทุนทรัพย์ 5.27 หมื่นล้านบาท
ส่วนคดีล้มละลายกุมภาพันธ์ 2560 จำนวน 1,740 เรื่อง ทุนทรัพย์ 1.21 หมื่นล้านบาท ยึดทรัพย์แล้ว 2,026 เรื่อง ทุนทรัพย์ 6.74 หมื่นล้านบาท ส่วนยอดสะสมไตรมาสที่ 1 ของปีงบ 2560 รวม 4,518 เรื่อง ทุนทรัพย์ 1.19 แสนล้านบาท ยึดทรัพย์แล้ว 4,933 เรื่อง ทุนทรัพย์ 6.37 หมื่นล้านบาท

ขณะที่การบริหารจัดการสำนวนคดีค้างดำเนินการเกิน 10 ปีที่มีอยู่จำนวน 12,880 เรื่อง โดยคาดว่าทั้งปีงบประมาณ 2560 จะสามารถดำเนินการเสร็จได้จำนวน 3,780 เรื่อง คิดเป็น 29.35% ของปริมาณคดีดังกล่าว โดยผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559-เดือนมีนาคม 2560 รวม 6 เดือน สามารถดำเนินการสำเร็จจำนวน 1,889 เรื่อง คิดเป็น14.67%คิดเป็นค่าเฉลี่ยดำเนินการเสร็จเดือนละ 315 เรื่อง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,257
วันที่ 30 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560