‘WTTC’วิชั่นซีอีโอโลก เมื่อโลกเปลี่ยนท่องเที่ยวต้องปรับตัว

30 เม.ย. 2560 | 11:00 น.
โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งเมื่อการท่องเที่ยว นับวันจะมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน “Transforming Our World” จึงเป็นธีมหลักของการประชุมสุดยอดสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (WTTC Global Summit)ประจำปี 2017 ที่ไทยเมื่อวันที่ 26-27 เมษายนที่ผ่านมา และยังมีประเด็นการสนทนา โดยผู้นำระดับโลก มาร่วมแสดงทรรศนะไว้อย่างน่าสนใจ “ฐานเศรษฐกิจ”จึงได้จับประเด็นมานำเสนอ

ดิจิตอลเปลี่ยนโลก
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คือบทบาทของเทคโนโลยี ซึ่งสอดคล้องไปกับพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป “ร็อบ โรเซนสไตน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทอโกด้า ออนไลน์แทรเวลเอเยนต์รายใหญ่ ให้ความเห็นว่า ผู้บริโภคมีบทบาทสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ขั้นตอนใดที่สร้างความไม่พอใจให้กับผู้บริโภค ธุรกิจก็จะเป็นผู้เข้ามาแก้ปัญหาด้วยรูปแบบธุรกิจทางเลือกใหม่ โดยมีเทคโนโลยีอันล้ำสมัยเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้เป็นไปได้ ดังนั้นภาคธุรกิจจะต้องกระโดดเข้ามาตามกระแสของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

นางแคทารินา เอคลอฟ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการพัฒนาธุรกิจโลก มาสเตอร์การ์ด ฉายภาพให้ฟังว่า การเติบโตของนักเดินทางที่เพิ่มขึ้น และพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป เช่น ความนิยมในการทำธุรกรรมการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ การเติบโตของธุรกิจแบ่งปัน อย่าง อูเบอร์ , Airbnbมาสเตอร์การ์ด จึงนำพฤติกรรมเหล่านี้มาร่วมเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาของเราที่จะตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ ควบคู่ไปกับการคุ้มครองอัตลักษณ์ของลูกค้า ให้เกิดความมั่นใจและปลอดภัยในการใช้บริการด้านดิจิตอล

 จีน-อินเดียตลาดทรงอิทธิพล
ส่วนในแง่ของตลาดการท่องเที่ยวมีการเติบโตสูงมากต่อเนื่อง ยังคงเป็นจีนและอินเดีย ซึ่งเรื่องนี้

“แพนซีย์ โฮ” กรรมการผู้จัดการบริษัท ชุน ทัก โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจท่องเที่ยว คือ จีน ที่ชนชั้นกลางกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งจีนยังเป็นประเทศที่มีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตมากที่สุดในโลก มุมมองที่ว่าชาวจีนนิยมเดินทางเป็นกลุ่มนั้นกลายเป็นแนวคิดที่ล้าสมัยไปแล้ว โดยปัจจุบันมีชาวจีนจำนวนมากขึ้นที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง(เอฟไอที) และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น

นักท่องเที่ยวจีนมีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างยิ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางออกนอกประเทศมากถึง 122 ล้านคนในปี 2559 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทำให้ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยวก็มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจจีนมากขึ้น โดยคิดเป็นสัดส่วน 5.2% ของจีดีพีเมื่อปีก่อน และคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 12% ของจีดีพีภายในปี 2563

[caption id="attachment_144557" align="aligncenter" width="380"] ‘WTTC’วิชั่นซีอีโอโลก เมื่อโลกเปลี่ยนท่องเที่ยวต้องปรับตัว ‘WTTC’วิชั่นซีอีโอโลก เมื่อโลกเปลี่ยนท่องเที่ยวต้องปรับตัว[/caption]

นอกเหนือจากนักท่องเที่ยวเอาต์บาวด์แล้ว การออกไปลงทุนในต่างประเทศของผู้ประกอบการชาวจีนจะมีความสำคัญต่อธุรกิจท่องเที่ยวนับจากนี้ไป ธุรกิจอย่างยูเนียนเพย์ ผู้ให้บริการด้านการเงินที่ได้ขยายเครือข่ายออกไปสู่ระดับโลกเพื่อรองรับกับการเดินทางท่องเที่ยวของชาวจีน ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายอยู่ในมากกว่า 160 ประเทศทั่วโลก ก็เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความอุ่นใจในการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวจีน เป็นต้น

สำหรับอินเดียก็มีศักยภาพสูงที่จะก้าวขึ้นมาเป็นหัวจักรขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของโลกควบคู่ไปกับจีนในอนาคต “อมิตาบห์ แคนท์”ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท NITI Aayog กล่าวว่า เป็นที่คาดหมายว่าภายในปี 2563 จะมีนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเดินทางออกนอกประเทศ 50 ล้านคน เมื่อเทียบกับประเทศตะวันตกที่ประชากร 70% เคยออกเดินทางไปต่างประเทศ แต่ประชากรจีนและอินเดียมีเพียง 5% เท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีศักยภาพที่ยังเติบโตได้อีกมาก

 ผนึกอาเซียนตลาดเดียว
ขณะที่ในแง่อาเซียนเอง ก็มีความร่วมมือที่จะผลักดันการสร้างอาเซียนตลาดเดียว ดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวระยะไกลมาเที่ยวอาเซียน และการเดินทางเที่ยวกันเองภายในอาเซียน “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเผยว่า อาเซียนยังมีความพยายามผลักดันเรื่องซิงเกิ้ลวีซ่า ซึ่งการดำเนินการก็คงต้องใช้เวลา และอาเซียนโดยเฉพาะในกลุ่มCLMV ก็จะมีการพัฒนาให้เกิดแพ็คเกจการท่องเที่ยวร่วมกัน ทั้งทางบก น้ำ อากาศ เพื่อขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน

ส่วนนายอรุณ มิชรา ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO ) กล่าวว่า ICAO กำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลทุกประเทศในอาเซียน เพื่อหวังที่จะเห็นทุกรัฐบาลสามารถปรับกฏระเบียบการบินให้สอดคล้องผสานกัน และทำให้เกิดน่านฟ้าเสรีในอาเซียนได้อย่างแท้จริง

ด้าน “โทนี เฟอร์นานเดส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มแอร์เอเชีย กล่าวว่า ยิ่งมีการเปิดเสรีเท่าใดยิ่งเกิดผลดีเท่านั้น และเชื่อว่าประโยชน์ของการเชื่อมโยงระหว่างกันจะมีมากกว่าการกีดกันทางการค้า แม้ว่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาอาเซียนจะเปิดเสรีทางการบินมากขึ้นอย่างมาก และเดินมาถูกทางแล้ว แต่หนทางยังอีกไกลกว่าที่จะมีความเสรีได้เหมือนกับในยุโรป โดยมองว่าขั้นต่อไปคือเรื่องของการแก้ปัญหาเรื่องการจำกัดการถือหุ้น ที่หลายประเทศยังเปิดให้ต่างชาติถือหุ้นได้เพียง 49% เชื่อว่าการเปิดกว้างจะเป็นประโยชน์ต่อสายการบินของอาเซียน นอกจากนี้ระบบวีซ่าเดียวทั่วอาเซียนก็จะเป็นประโยชน์ สายการบินโลว์คอสต์ช่วยทำให้อาเซียนถูกมองว่าเป็นเดสติเนชันเดียวกันแล้วในเวลานี้

 คุมพื้นที่สัมพันธ์ศักยภาพ
อีกทั้งการเติบโตอย่างรวดเร็วของการท่องเที่ยวได้นำมาซึ่งปัญหาที่สำคัญ คือนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆของโลกมากเกินไปจนสร้างความเสียหายให้กับสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ ปัญหาดังกล่าวถูกมองข้ามมาเป็นเวลานาน แต่ในเวลานี้ผู้ที่เกี่ยวข้องเริ่มหันมาปัญหาดังกล่าวกันมากขึ้น

“อเล็กซ์ ดิชเตอร์” หุ้นส่วนอาวุโสบริษัทที่ปรึกษาบริษัทแมคคินซีย์ แอนด์ กล่าวว่า จำเป็นจะต้องเริ่มต้นมีแผนการและโครงสร้างในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว โดยเริ่มต้นจากการประเมินว่าสถานที่ท่องเที่ยวสามารถรองรับผู้คนได้มากน้อยเพียงใด

ไม่เพียงมองการควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยว ยังต้องมองถึงการกระจายนักท่องเที่ยวและรายได้ออกไปสู่แหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ปัจจุบันนี้คนหันมาให้ความสนใจเรื่องของประสบการณ์การท่องเที่ยวมากขึ้น

ทั้งหมดเป็นมุมมองจากซีอีโอระดับโลกในเวที WTTC

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,257
วันที่ 30 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560