เวียดนามขายหุ้นแบงก์ รัฐไฟเขียวทุนต่างชาติถือหุ้นใหญ่‘เอสซีบี’

01 พ.ค. 2560 | 09:00 น.
รัฐบาลเวียดนามอนุมัติให้ต่างชาติสามารถซื้อหุ้นใหญ่ธนาคาร ไซ่ง่อนจอยต์สต๊อกคอมเมอร์เชียลแบงก์(เอสซีบี) ใหญ่อันดับ 5 ของประเทศ เผยเป็นรายแรกของประเทศตามนโยบายเปิดทางต่างชาติร่วมฟื้นฟูและพัฒนาธนาคารท้องถิ่น

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่าธนาคารเอสซีบีของเวียดนาม ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองโฮจิมินห์ซิตี้ กำลังเจรจากับนักลงทุนต่างชาติรายหนึ่งเพื่อขายหุ้นเพิ่มทุนมูลค่า 700 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 24,500 ล้านบาท) ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในทันทีโดยธนาคารแจ้งว่าจุดประสงค์ของการเพิ่มทุนครั้งใหญ่ครั้งนี้เพื่อให้ธนาคารสามารถแก้ปัญหาหนี้เสียได้เร็วขึ้น

นาย หวอ ตัน หว่าง วัน (Vo Tan Hoang Van) ประธานบริหารธนาคารเอสซีบีกล่าวว่า ธนาคารจะออกหุ้นใหม่เพื่อขายให้นักลงทุนต่างชาติในราคาพาร์ ‘เรากำลังมองหาพันธมิตรที่ไม่เพียงแต่นำเงินเข้ามาเท่านั้น แต่ต้องเป็นพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์ด้วย โดยสิ่งสำคัญที่สุดจะต้องสามารถช่วยเหลือลูกค้าของเรา ดำเนินโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่อให้เสร็จได้ ซึ่งการทำเช่นนั้นเป็นการลดปัญหาหนี้ให้ธนาคารได้’

นายวันระบุว่า ธนาคารเอสซีบี ได้เจรจากับนักลงทุน 6 รายซึ่งมีทั้งธนาคาร กองทุนเพื่อการลงทุนและบริษัทประกันจากประเทศนอร์เว อินโดนีเซีย ไต้หวันและจีน โดยมีรายงานในช่วงต้นปีว่ามีกองทุนเพื่อการลงทุนติดต่อขอซื้อหุ้น 15 % ก่อนที่ธนาคารจะตัดสินใจขายหุ้นใหญ่เพื่อแก้ปัญหาให้จบในคราวเดียวโดยมีการมีเป้าหมายที่นักลงทุนจากจีนและอินโดนีเซีย

นายวัน กล่าวว่าธนาคารเอสซีบี จะต้องนำเสนอแผนการขายหุ้นให้ต่างชาติต่อธนาคารชาติเพื่อการอนุมัติภายในช่วงต้นปีนี้และคาดว่าจะสามารถปิดดีลได้กลางปีพ.ศ. 2561 โดยธนาคารจะต้องการธนาคารจากต่างประเทศเป็นที่ปรึกษาและ สุดท้ายนายกรัฐมนตรีจะต้องลงนามอนุมัติการขายหุ้นดังกล่าว

บลูมเบิร์กระบุว่า การขายหุ้นใหญ่ของธนาคารเอสซีบี เป็นไปตามนโยบายปฏิรูปสถาบันการเงินของรัฐบาล โดยนายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามให้สัมภาษณ์ สถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์กก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลจะเปิดเพดานการถือหุ้นของต่างชาติในธนาคารให้มากกว่า 30 % ซึ่งเป็นข้อกำหนดเดิมเพื่อแก้ปัญหาธนาคารท้องถิ่นที่อ่อนแอ โดยยกตัวอย่างการที่ธนาคารชาติต้องยืดกิจการ ธนาคาร โอเชี่ยนแบงก์เข้ามาเป็นของรัฐและขายให้แก่ต่างชาติ

นายอลัน ฟาม (Alan Pham) หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทวีนาแคปิตอลกรุ๊ปฯ ให้สัมภาษณ์ที่เมืองโฮจิมินห์ ว่าการปฏิรูประบบสถาบันการเงินของรัฐบาลเป็นสิ่งสำคัญมาก ทำให้เอสซีบีได้ทุนใหม่เพื่อในการแก้ปัญหาหนี้เสียได้ นอกจากนี้นักลงทุนใหม่ยังสามารถช่วยธนาคารเอสซีบีในเรื่องเทคโนโลยีทันสมัย การบริหารความเสี่ยง การขายผลิตภัณฑ์อนุพันธุ์และการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน

บลูมเบิร์กระบุว่า เวียดนามเริ่มแก้ปัญหาแบงก์ในประเทศตั้งแต่ปีพ.ศ. 2556 โดยการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เวียดนามขึ้นเพื่อซื้อหนี้เสียออกจากระบบธนาคาร ซึ่งทำให้อัตราหนี้เสียของระบบแบงก์ลดลงจาก 7.8 % ในปีพ.ศ. 2555 เหลือ 2.46 % โดยตั้งแต่ก่อตั้งจนปัจจุบันบริษัทฯ ทวงเงินได้เพียง 18 % ของยอดหนี้เสียรวม

 เส้นทางธนาคารเอสซีบี ของเวียดนาม
ธนาคารไซง่อนจ้อยท์สต็อคคอมเมอร์เชียลแบงก์ (เอสซีบี) เปิดทำการในวันที่ 1 มกราคม 2555 จากการควบรวมกิจการ 3 ธนาคารเข้าด้วยกันคือธนาคาร ไซง่อนจ้อยท์สต็อคคอมเมอร์เชียลแบงก์ ธนาคาร เฟิร์สท์จ้อยท์สต็อคคอมเมอร์เชียลแบงก์ และธนาคารเวียดนามทินเหงียคอมเมอร์เชียลจ้อยท์สต็อคแบงก์ (Tin Nghia Commercial Joint Stock Bank)

การควบรวมกิจการทำให้ธนาคารเอสซีบีมีขนาดใหญ่ขึ้น มีเงินทุน 10,584,000 ล้านด่อง (ประมาณ 16,000 ล้านบาท) มูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 154,000,000 ล้านด่อง (ประมาณ 233,903 ล้านบาท) มีสาขาทั่วประเทศรวม 230 สาขามีขนาดใหญ่อันดับ 5 ของประเทศ

ผู้บริหารแถลงในการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมาว่า เอสซีบี สามารถลดอัตราหนี้เสียเหลือเพียง 0.68 % เมื่อสิ้นปีที่แล้วจาก 7.25 % เมื่อสิ้นปี 2555 และธนาคารตั้งเป้าติดตามหนี้ค้างชำระรวม 1.5 ล้านล้านด่องให้ได้ภายในปีนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,257
วันที่ 30 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560