โคบอลต์ปรับราคา ดันต้นทุนรถอีวีพุ่ง

02 พ.ค. 2560 | 05:00 น.
แม้ความนิยมจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและทำยอดขายได้มากขึ้นแต่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่รถยนต์ ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคใหญ่นั่นคือการควบคุมต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้นมาก ตามราคาวัตถุดิบที่ปรับขึ้นหลายเท่าในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา

นับตั้งแต่ปี 2559 จนถึงขณะนี้ ราคาโคบอลท์ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 2 เท่า แร่ดังกล่าวเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนชนิดชาร์จไฟใหม่ได้ ราคาที่ปรับขึ้นนี้เป็นไปตามความคาดหมายของตลาดที่มองว่าอุปสงค์จะพุ่งขึ้นเนื่องจากมีความต้องการใช้แบตเตอรี่ดังกล่าวในรถยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี ในปริมาณเพิ่มขึ้นมาก กลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ราคาซื้อขายโคบอลท์ขยับขึ้นไปที่ระดับ 27.50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปอนด์ ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในรอบ 8 ปี หรือเพิ่มขึ้น 90% เมื่อเทียบกับราคาเมื่อต้นปีนี้ และหากจะเทียบกับราคาเมื่อปี 2559 ก็นับว่าแร่ดังกล่าวแพงขึ้น 2.5 เท่า

จากการที่โคบอลท์เป็นส่วนประกอบสำคัญ และเป็น 20% ของต้นทุนรวมทั้งหมดในการผลิตแบตเตอรี่รถอีวี ทางผู้ประกอบการจึงเริ่มเป็นห่วงว่าหากราคาโคบอลท์ยังไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ บริษัทผู้ผลิตก็จะจัดซื้อวัตถุดิบดังกล่าวได้ยากขึ้น และมีผลสร้างความล่าช้าให้กับกระบวนการพัฒนารถอีวีในอนาคต

รายงานข่าวยังระบุว่า ลิเธียม วัตถุดิบอีกรายการที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถอีวี ได้ขยับราคาซื้อขายล่วงหน้าสูงขึ้นประมาณ 3 เท่าเช่นกัน เมื่อเทียบกับราคาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ทั้งนี้ ผู้ค้าใช้ราคาซื้อขายลิเธียมในประเทศจีนเป็นเกณฑ์มาตรฐานราคาอ้างอิง

นอกเหนือจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมเบตเตอรี่รถอีวีที่พุ่งขึ้นแล้ว โคบอลท์ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการถลุงแร่ทองแดงและนิกเกิล ยังมีราคาสูงขึ้นเนื่องจากปัจจัยในฝั่งอุปทาน เนื่องจากบริษัทเหมืองแร่จำนวนมากได้ลดกำลังการผลิตลงเพื่อให้สอดคล้องกับตลาดทองแดงที่กำลังชะลอตัว และแรงกดดันจากภาครัฐที่เข้มงวดกับกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ตลาดยังมีความกังวลเกี่ยวกับอุปทานจากประเทศคองโก ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกโคบอลท์รายใหญ่ของโลก ที่กำลังประสบปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ

แรงกดดันที่จะต้องควบคุมต้นทุนการผลิตท่ามกลางราคาวัตถุดิบหลักที่ขยับขึ้นนี้ ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์อีวีรายใหญ่ เช่น ค่ายนิสสัน ประเทศญี่ปุ่น เจ้าของรถอีวีรุ่นยอดนิยม “ลีฟ” (Leaf) หาทางลดต้นทุนด้วยการเจรจาขายกิจการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ที่บริษัทร่วมทุนกับบริษัท เอ็นอีซี โดยกรณีนี้ นิสสันมองว่า การซื้อแบตเตอรี่จากผู้ผลิตรายอื่น จะสามารถลดต้นทุนได้มากกว่าการผลิตเองในโรงงาน ขณะเดียวกัน เทสล่า คู่แข่งรายสำคัญซึ่งเป็นผู้ผลิตรถอีวีสัญชาติอเมริกัน ได้จับมือกับบริษัท พานาโซนิค เดินหน้าการผลิตแบตเตอรี่ของตัวเองที่โรงงานขนาดใหญ่มูลค่า 5,000 ล้านดอลลาร์ในรัฐเนวาดา เพื่อป้อนให้กับรถไฟฟ้ารุ่น “โมเดล3” ที่กำลังจะเริ่มการผลิตในปีนี้ โดยข่าวว่าบริษัทได้รับออร์เดอร์ผลิตรถรุ่นดังกล่าวแล้วประมาณ 400,000 คัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,257
วันที่ 30 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560