100 วันผลงาน‘ทรัมป์’ ความนิยมน้อยลง-รอวัดผลปฏิรูปภาษี

30 เม.ย. 2560 | 13:00 น.
การทำงานในตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ครบ 100 วันแรกในวันที่ 29 เมษายน 2560 ด้วยคะแนนความนิยมต่ำสุดนับตั้งแต่ที่มีการสำรวจกันมา สะท้อนถึงสิ่งที่ประชาชนคาดหวังและความเป็นจริงที่ไม่ได้เป็นไปตามคาด ที่ย่ำแย่ไปกว่านั้นคือความขัดแย้งที่ดูจะมากขึ้นในพรรคการเมือง พลังสนับสนุนที่ทรัมป์ได้มาสร้างความฮึกเหิมหลังรับชัยชนะจากการเลือกตั้งดูจะแผ่วหายไปอย่างรวดเร็วในช่วงเวลา 100 วันแรกนี้

ผู้ตอบการสำรวจของซีเอ็นเอ็น/โออาร์ซี โพลล์ 54%ไม่พอใจผลงานในรอบ 100 วันของทรัมป์ ขณะที่ 44% ให้ผ่าน ซึ่งในการสำรวจความพึงพอใจ 2 ครั้งก่อนหน้านี้หลังจากที่ทรัมป์สาบานตนเข้ารับตำแหน่ง สัดส่วนคนที่พึงพอใจและไม่พอใจก็อยู่ที่ประมาณเดียวกันกับผลสำรวจครั้งล่าสุด

ระดับความพอใจและให้ผ่านที่ 44% นั้นถือว่าต่ำสุดเท่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯเคยได้รับมาโดยวัดกันที่ผลงานหลังเข้ารับตำแหน่ง 100 วัน

ส่วนคนที่ได้คะแนนความนิยมน้อยสุดก่อนหน้านี้คือ ประธานาธิบดีบิล คลินตัน แต่คลินตันก็ยังได้มากกว่าทรัมป์ถึง 11%

ทรัมป์เดินสะดุด 2 ประเด็นสำคัญที่เขาให้น้ำหนักไว้มากนับตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง นั่นคือ เรื่องกฎหมายประกันสุขภาพและปัญหาคนเข้าเมือง เมื่อมีการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการดำเนินการของทรัมป์ในทั้ง 2 ประเด็นนี้ จำนวนผู้ที่ตอบว่าไม่ชอบใจหรือไม่เห็นด้วยนั้น มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ประมาณ 6 ใน 10 ของผู้ที่ตอบคำถามการสำรวจ ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการบริหารจัดการของทรัมป์ในทั้ง 2 ประเด็นนี้ แต่ในการบริหารงานด้านนโยบายระหว่างประเทศ ความมั่นคง และการดำรงบทบาทในฐานะผู้นำกองทัพ ปรากฎว่า ประชาชนส่วนใหญ่ (52%) เห็นว่า ทรัมป์ใช้อำนาจทางการทหารอย่างรอบคอบและรับผิดชอบ

ผู้ตอบการสำรวจ 54% ยอมรับว่า สถานการณ์โดยภาพรวมทางเศรษฐกิจดูดีขึ้น (ผู้ตอบเช่นนี้ในการสำรวจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์มีเพียง 46%) เกือบๆ 6 ใน 10 คนระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี นับเป็นสัดส่วนสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2550 เป็นต้นมา แต่นอกเหนือจากนี้แล้ว ในภาพรวมของการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้สึกเชิงลบต่อการบริหารจัดการของทรัมป์ในหลากหลายประเด็น ยกตัวอย่างเช่น 55 % มองว่าทรัมป์ยังไม่ให้ความสนใจมากเท่าที่ควรกับปัญหาสำคัญที่สุดของประเทศ และ 51% มองว่าเขาไม่พยายามมากพอที่จะทำงานให้เต็มประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ 56% มองว่าทรัมป์เลือกทีมที่ปรึกษาได้ไม่ดีนัก และ 52% เห็นว่าเขาไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้เท่าไหร่ ขณะที่ 61% คิดว่า ผู้นำประเทศอื่นๆไม่ได้ให้ความนับถือทรัมป์เท่าที่ควร และที่สำคัญคือ 52% เห็นว่าเขานำพาประเทศไปสู่ความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น

เมื่อถูกถามเกี่ยวกับความเห็นที่มีต่อผู้นำคนนี้ ผู้ที่ตอบว่าทรัมป์เป็นคนซื่อสัตย์จริงใจนั้นลดลงจาก 41% เหลือเพียง 37% ในการสำรวจครั้งนี้ เช่นเดียวกับผู้ที่มองว่าเขาจะบริหารรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพที่ลดลงจาก 50% เหลือเพียง 44% ผู้คนที่มองว่าทรัมป์จะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้อย่างที่ควรจะเป็นก็มีลดลงด้วย 51% เชื่อว่าเขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ มีเพียง 48% ที่มองว่าเขาทำได้ การสำรวจของซีเอ็นเอ็น/โออาร์ซีครั้งล่าสุดนี้ สุ่มสำรวจความคิดเห็นของประชาชนวัยผู้ใหญ่จำนวน 1,009 คน โดยเป็นการสำรวจทางโทรศัพท์ระหว่างวันที่ 22-25 เมษายนที่ผ่านมา

แม้ว่าโครงการประกันสุขภาพที่ทรัมป์เสนอจะนำมาใช้แทนโครงการเดิมซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม “โอบามาแคร์” จะยังพบกับอุปสรรคใหญ่ในรัฐสภาและไม่คืบหน้าอย่างที่หวัง อีกทั้งคำสัญญาที่ว่าจะสร้างกำแพงกั้นแนวพรมแดนระหว่างสหรัฐฯและเม็กซิโกเพื่อแก้ปัญหาการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย อาชญากรรมและยาเสพติด ก็ยังไปไม่ถึงไหน แถมมีถอยหลังเมื่อทรัมป์ยอมถอดแผนของบก่อสร้างกำแพงออกจากร่างกฎหมายงบประมาณซึ่งจำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในสัปดาห์นี้ (28 เม.ย.) หลังโดนพรรคฝ่ายค้านสุดตัว (เพราะช่วงหาเสียงทรัมป์ระบุจะให้เม็กซิโกเป็นฝ่ายออกเงินค่าก่อสร้างกำแพง) เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (26 เม.ย.) อย่างน้อยทรัมป์ก็ยังสามารถเข็นแผนปรับโครงสร้างภาษีที่หลายคนรอคอยและมองว่านี่คือผลงานโบว์แดงของเขาในช่วง 100 วันแรกของการทำงาน ทั้งนี้ แผนการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งในประเทศและต่างประเทศที่จะส่งเงินกลับมายังสหรัฐฯ จะลดลงจาก 35% เหลือเพียง 15%

แผนดังกล่าวยังเสนอให้เพิ่มการลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายมาตรฐานสำหรับบุคลธรรมดา และปรับฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเดิม 7 อัตรา เหลือเพียง 3 อัตรา คือที่ 10% 25% และ 35% และยังยกเลิกภาษีมรดกในส่วนของอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังระบุว่า แผนลดภาษีครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์นี้จะชดเชยส่วนต่างด้วยตัวของมันเองผ่านการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลดหย่อนและการปิดช่องโหว่ทางภาษี อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งออกมาเตือนว่า แผนภาษีของทรัมป์ขาดมาตรการเพิ่มรายได้ใหม่ๆให้กับภาครัฐ ฉะนั้น จึงอาจก่อให้เกิดปัญหาการขาดดุลงบประมาณมากขึ้นในอนาคต ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปยาวๆ แต่ว่าตอนนี้ ทรัมป์ย้ำว่า เป้าหมายคือการทำให้ธุรกิจของสหรัฐฯมีความสามารถในการแข่งขันให้มากที่สุดซึ่งก็เป็นไปตามสโลแกน Make America Great Again ที่เขาหาเสียงไว้จนได้รับชัยชนะ เข้ามาบริหารประเทศในวันนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,257
วันที่ 30 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560