สร้างต้นแบบ ธพว.พัฒนา SMEs เชี่ยวหลานโต

02 พ.ค. 2560 | 07:00 น.
ความก้าวหน้าในการพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ SMEsในโครงการพัฒนาพื้นที่ทะเลสาบเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฏร์ธานี หลังจากโครงการดำเนินมาครบรอบ 1 ปี ถือเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชน จากการผนึกกำลังของทุกภาคส่วน หนึ่งในแกนนำก็คือ “ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย :ธพว.”

 ติดปีก SMEs
มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของ “SMEs Development Bank” ไม่เพียงจะพยายามเติมเต็มด้านเงินทุนโดยไม่ต้องใช้หลักประกัน แต่สิ่งที่ธนาคารพยายามทำคือ การเติมเต็มเรื่องความรู้ทางด้านการตลาด การจัดการและมาตรฐานคุณภาพ หากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) มีตรงนี้ได้ ก็เหมือนมีภูมิคุ้มกันและไม้คํ้ายันสามารถติดปีกไปขายทั่วโลก เราต้องผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าถึงออนไลน์เพื่อจะขายสินค้าได้

ที่มาของโครงการนี้ สืบเนื่องจากธพว.ได้ปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการแพ 500 ไร่ (อติรัตน์ด่านภัทรวรวัฒน์ และในฐานะนายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวทะเลสาบเชี่ยวหลาน ) ซึ่งเป็นลูกค้าเก่า และได้เห็นโอกาสศักยภาพของเชี่ยวหลาน จากการหารือเห็นว่าการจะขับเคลื่อนคนใดคนหนึ่งจะไม่เกิดประสิทธิผลต้องทำเป็นองคาพยพ ผู้ประกอบการในพื้นที่ต้องรวมกันเป็นกลุ่มจึงเป็นที่มาของการรวมเป็นสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวทะเลสาบเชี่ยวหลาน

 ดึง SMEs จดนิติบุคคล
ภายใต้ความร่วมมือหลายหน่วยงาน อาทิ สถาบันเทคโนโลยี่พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ( สจล.) ,กรมเจ้าท่า ,วนอุทยานแห่งชาติเขาสก ,องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น,มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ,มหาวิทยาวลัยลักษณ์ และทางสมาคม ฯ เพื่อพัฒนาศักยภาพให้ผู้ประกอบการในเรื่องการทำบัญชี ตรวจสอบรายรับ-รายจ่าย อบรมภาษา และให้คำปรึกษาพัฒนา-ปรับปรุงเรือรับนักท่องเที่ยว จัดอบรมความปลอดภัยในการเดินเรือมีทีมที่ปรึกษาจาก สจล.

นอกจากนี้ ธพว.ยังให้คำปรึกษาทางการเงิน และสนับสนุนสินเชื่อปรับปรุงพัฒนาเรือจำนวน 24 ราย วงเงิน 42.57 ล้านบาท หรือเงินกู้ต่อราย 1-3 ล้านบาท โดยไม่ต้องใช้หลักประกัน

“สิ่งสำคัญที่แบงก์พยายามทำก็คือการดึงให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ เพราะการไม่เข้าสู่ระบบทำให้เขาไม่แข็งแกร่งพอ คือผู้ประกอบการทั้งหลายต้องรวมตัวเป็นสมาคม เป็นนิติบุคคล เพื่อเราหรือหน่วยงานรัฐจะได้ให้การสนับสนุนผ่านสมาคม โดยมีองค์การนำ เพราะการจะกู้เดี่ยว ๆจะเกิดปัญหาสารพัด และปัจจุบันการคิดดอกเบี้ยที่ปล่อยกู้ผ่านนิติบุคคล ก็จะถูกกว่าที่เป็นรายบุคคลกู้กว่า 4%“ กรรมผู้จัดการ ธพว. กล่าว

 1ปี ยกระดับท่องเที่ยว
ทั้งนี้หลังจากโครงการ ฯ ดำเนินมาครบรอบ 1 ปี ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่อปีเพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนคน และเป้าหมายปีนี้ คาดจะเพิ่มเป็น 5 แสนคน สร้างเงินหมุนเวียนในพื้นที่ 1,675- 3,200 ล้านบาท จากการอัพเกรดที่พัก และปรับปรุงเรือ โดยเป็นรายได้แพที่พัก 1,000-3,000 ล้านบาท ( 2,000-6,000 บาท/คน/คืน ) เรือโดยสาร 75-200 ล้านบาท ( 150-400 บาท/คน ) เพิ่มจาก 2 ปีที่แล้วที่จำนวนนักท่องเที่ยวแค่หลักแสนคน ( ตารางประกอบ)

วิทยา ถาพร ผู้บริหารกิจการเชี่ยวหลานดิสคอฟเวอรี่ กล่าวถึง การที่ธนาคารให้วงเงินกู้ปรับปรุงเรือ ถือว่าตอบโจทย์นักท่องเที่ยว ชมรมธุรกิจเรือเชี่ยวหลานมีเรือทั้งหมด 201 ลำ ปัจจุบันเกือบครึ่งได้พัฒนาปรับเป็นเรือพวงมาลัยที่มีความเบาและบรรทุกได้ถึง 20 ที่นั่ง จากเดิมที่เป็นเรือหางยาวบรรทุกได้ 10 คน ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความเชื่อมั่นและจำนวนเข้ามาเที่ยวเพิ่มทุกปี

สอดคล้องกับ อติรัตน์ ด่านภัทรวรวัฒน์ กล่าวว่า เป็นโอกาสที่ดีที่หลายหน่วยงานจะร่วมผนึกผลักดันให้เชี่ยวหลานเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเจริญยั่งยืนให้จังหวัดสุราษฏรธานี เพราะศักยภาพพื้นที่ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างพื้นที่อันดามัน-อ่าวไทย และเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาสก มีแหล่งท่องเที่ยวที่สมบูรณ์

ก้าวต่อไป ธพว. วางเป้าหมายการพัฒนาผู้ประกอบการท่องเที่ยว ขยายไปสู่พื้นที่รอบข้าง การท่องเที่ยวเขาสก หลังเห็นผลว่าการพัฒนาที่เชี่ยวหลาน ทำให้สัดส่วนนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 80 % ( วัดจากค่าธรรมเนียมขึ้นอุทยาน ) และยังเป็นการซัพพอร์ตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ หากเชื่อมกันได้จะเป็นเอกลักษณ์ (แบรนด์)ให้กับสุราษฏร์ธานี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,257
วันที่ 30 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560