สวนยางอุดรร้องนายกฯผู้ว่าปิด 2 โรงงานใหญ่เดือดร้อนหนักไม่มีที่ขาย

01 พ.ค. 2560 | 11:00 น.
เกษตรกรฟ้อง “ประยุทธ์” หอบหลักฐานโชว์กลางที่ประชุมกนย. ชี้ผู้ว่าฯอุดรสั่งปิด 2 โรงงานยางแท่งรายใหญ่ ในพื้นที่กระทบหนักไม่มีที่ขาย ผวาช่วงเปิดกรีดโรงงานมีน้อยถูกกดราคา บิ๊กวงศ์บัณฑิตยันเร่งปรับปรุงขณะศรีตรังขู่ฟ้องฐานทำให้ได้รับความเสียหาย

จากเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมานายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้มีคำสั่งปิด 2 โรงงานยางแท่งของบริษัท ศรีตรัง แอโกร อินดัสทรี จำกัด(มหาชน) (บมจ.)และบริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด(บจก.)ให้หยุดปรับปรุงโรงงานจากส่งกลิ่นเหม็นมานานกว่า 5 ปี ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 นั้น

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กรรมการในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในการประชุม กนย. เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกนย. เป็นประธานที่ประชุม ได้นำเรื่องร้อนเรียนจากชาวสวนยางทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) ได้รับความเดือดร้อนจาก 2 โรงงานยางแท่งรายใหญ่ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ได้แก่ ของบริษัทศรีตรังฯ มีกำลังการผลิต 1.5 หมื่นตันต่อเดือน และของบริษัทวงศ์บัณฑิตฯ ประมาณกำลังการผลิตวันละ 600 ตันต่อวัน คิดเป็นกำลังการผลิต 1.8 หมื่นตันต่อเดือน

ทั้งนี้เมื่อ 2 โรงงานใหญ่นี้ปิด ชาวสวนยางในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะไม่มีที่ส่งขาย ยาง หากต้องขนส่งไปขายในจังหวัดใกล้เคียงต้นทุนก็เพิ่ม ไม่คุ้ม ดังนั้นจึงขอความกรุณาให้ช่วยตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่มีความรอบคอบหรือไม่ กลิ่นเหม็นระดับไหนรับได้ ไม่ได้ ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องชี้ชัดออกมาเพราะกระทบต่อชาวสวน

สอดคล้องกับนายศิริชัย ห่านพิบูลย์พงษ์ นายกสมาคมเครือข่ายชาวสวนยาง จังหวัดบึงกาฬ ที่เผยว่า โรงงานยางรายใหญ่ในภาคอีสาน มี 6 โรงงาน หากปิด 2 โรงงานเรื่องกลิ่นเหม็น เกรงจะลามเป็นโดมิโนปิดโรงงานที่เหลือโดยอ้างสาเหตุเดียวกัน

"เวลานี้ชาวสวนยางในจังหวัดอุดรธานีเดือดร้อนมากไม่รู้ว่าจะนำน้ำยางไปขายที่ไหน หากโรงงานมีน้อยชาวสวนก็จะถูกกดราคา ปัจจุบันสวนยางในพื้นที่เริ่มเปิดกรีดแล้วไม่ต่ำกว่า 1 แสนไร่ ส่วน 3 โรงงานของการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ก็รับแค่เฉพาะสถาบันองค์กรขึ้นทะเบียนเท่านั้น ไม่ได้รับเป็นรายบุคคลต่างจากโรงงานเอกชน"

ด้านท.พ.พงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต กรรมการผู้จัดการ บจก. วงศ์บัณฑิต กล่าวสั้นๆ ว่า จะพยายามเร่งปรับปรุงโรงงานให้แล้วเสร็จตามมาตรฐานของกรมโรงงาน คาดภายในสัปดาห์หน้าจะสามารถเดินเครื่องได้ปกติ

ขณะแหล่งข่าวจาก บมจ.ศรีตรังฯ กล่าวว่า จะฟ้องกลับตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมองว่าถูกกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะการจะปิดโรงงานไม่ใช่จะสั่งปิดทันที กล่าวคือวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมาเรียกประชุม วันที่ 19 เมษายนมีคำสั่งออกมา แล้ววันที่ 20 เมษายนได้สั่งปิดทันทีทำให้บริษัทได้รับความเสียหายมาก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,257
วันที่ 30 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560