”งบเรือดำน้ำ” ควรตรวจสอบได้

26 เม.ย. 2560 | 13:09 น.
วันที่ 26 เม.ย.60 นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน จำนวน 3 ลำ รวมมูลค่า 36,000 ล้านบาทว่า ขณะนี้สิ่งที่ต่างชาติมองถึงโครงการนี้คือเรื่องที่ประชาชนและสื่อมีสิทธิที่จะตั้งคำถามกับภาครัฐบาลในการจัดซื้อโครงการนี้ได้หรือไม่ และถ้าไม่เห็นด้วยภาครัฐจะมีระบบการทบทวนโครงการอย่างไร หรือถ้าเห็นด้วยกระบวนการจัดซื้อจะเป็นอย่างไร มีการขายในหลายประเทศหรือไม่และทำไมต้องเป็นจีน

ซึ่งโครงการนี้หากมีกระบวนการดำเนินการที่โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งยังสามารถชี้แจงต่อสังคมได้ก็ถือเป็นเรื่องดี แต่หากต้องมีการปกปิดก็ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและจะไม่โปร่งใส และหากจะมีการอ้างถึงความมั่นคงของประเทศ ก็คงต้องมีการเปิดเผยถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ที่จะได้รับด้านอื่นด้วย ไม่ใช่การปดปิดข้อมูลโครงการทั้งหมด  แม้ในต่างประเทศ งบประมาณด้านกลาโหมจะเป็นเรื่องที่เป็นความลับ แต่ก็ยังมีกระบวนการตรวจสอบที่ชัดเจน ดังนั้นคณะกรรมการในรัฐสภา ควรตรวจสอบเรื่องนี้ให้ชัดเจน เพราะเป็นกระบวนการที่สามารถทำได้

26-4-2560-17-22-05

ด้านนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทยกล่าวว่า แม้ผลงานตลอด3ปีที่ผ่านมาของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นจะถือว่าดีกว่าในรัฐบาลที่ผ่านมา โดยให้คะแนนความตั้งใจเต็ม 10 คะแนน แต่การบังคับใช้กฎหมาย เอาผิดเกี่ยวกับการทุจริตให้ 7 คะแนน เพราะสังคมยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการลงโทษผู้ทุจริต โดยเฉพาะบุคคลใกล้ชิดคณะรัฐมนตรี รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

26-4-2560-17-07-21

ส่วนกรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำ มีความเห็นว่าน่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อผ่านทางเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง และหากเป็นไปได้ก็น่าจะใช้พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่มาดำเนินการ ที่สำคัญควรชี้แจงให้ภาคประชาชนรับทราบถึงเหตุผลในการจัดซื้อ ว่ามีระบบการจ่ายเงินอย่างไร และบริษัทนายหน้าที่ติดต่อคือใคร เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริต
26-4-2560-17-07-00-768x468

ขณะที่นายณัชพล ประดิษฐเพชรา นักวิชาการทีดีอาร์ไอระบุว่า จากผลการสำรวจดัชนีคอร์รัปชั่นในประเทศไทยระหว่างปี2553-2559 ในการสุ่มวัดผลจากการสอบถามประชาชน ผู้ประกอบการและข้าราชการประมาณ 2,400 ตัวอย่างจากทั่วประเทศ พบว่าความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นน้อยลง แต่สถานการณ์ยังไม่ดีมาก ส่วนทัศนคติและจิตสำนึกของคนในสังคมต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น พบว่าความอดทนเหลือเพียง 2.2 เต็ม10 ต่ำสุดตั้งแต่สำรวจมา และกว่าร้อยละ 95 ไม่เห็นด้วย ว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องไกลตัวไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเอง จากในปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 62 และกว่าร้อยละ 85พร้อมที่จะร่วมต่อต้านการคอร์รัปชั่น จากในปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 78

ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการทุจริตและควรแก้ไขยังพบว่ากฎหมายเปิดโอกาสให้สามารถใช้ดุลยพินิจที่เอื้อต่อการทุจริต เจ้าหน้าที่ขาดคุณธรรมและไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณ และกระบวนการทางการเมืองขาดความโปร่งใสและตรวจสอบยากในต่างประเทศ