พาณิชย์ผนึก 14 เอกชนรายลดราคาสินค้าสูงสุด 80% รับเปิดเทอม

26 เม.ย. 2560 | 12:45 น.
พาณิชย์ผนึกกำลังภาคเอกชนลดราคาสินค้า “รวมใจ..ช่วยไทย..ลดรับเปิดเทอม”แบ่งเบาภาระค่าครองชีพผู้ปกครองลดสูงสุดถึง 80% คาดช่วยลดค่าครองชีพได้   6,000 ล้าน  พร้อมช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายสำคัญ  ในการมุ่งลดภาระค่าครองชีพประชาชน มอบหมายให้กรมการค้าภายในจัดงาน  ลดราคาสินค้าในช่วงเทศกาลต่างๆ ซึ่งครั้งนี้ได้จัดงานลดราคาสินค้าครั้งใหญ่ในช่วงเปิดเทอม เพื่อช่วยลดภาระ ค่าครองชีพประชาชน เนื่องจากผู้ปกครองและประชาชนจะมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยที่ผ่านมาได้จัดงาน  ลดราคาสินค้าเครื่องแบบนักเรียนและสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นมาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2558 ระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 10 พฤษภาคม 2558 รวม11 วัน และในปี 2559 ระหว่างวันที่ 28 เมษายน – 15 พฤษภาคม 2559 รวม 18 วัน

สำหรับการจัดลดราคาสินค้าในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้ชื่อ “รวมใจ..ช่วยไทย..ลดรับเปิดเทอม”ระหว่างวันที่ 27 เมษายน – 14 พฤษภาคม 2558 รวมระยะเวลา 18 วัน โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิต   ผู้จำหน่ายชุดนักเรียน จำนวน 4 ราย ได้แก่ ร้านศึกษาภัณฑ์ ของกระทรวงศึกษาธิการ ร้านน้อมจิตต์ ห้างตราสมอ และร้านสมใจนึก รวมทั้งร้านจำหน่ายเครื่องเขียนและอุปกรณ์การเรียน ห้างค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ จำนวน 14 ราย ได้แก่ เซ็นทรัล โรบินสัน แฟมิลี่มาร์ท ท๊อปส์ เทสโก้โลตัส บิ๊กซี แม็คโคร เดอะมอลล์ เซเว่นอีเลฟเว่น ฟู้ดแลนด์ 108shop ลอว์สัน แม็กซ์แวลู และเจซีมาร์ท

ด้านนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การลดราคาจำหน่ายสินค้าในครั้งนี้ จะแตกต่างจากการลดราคาในช่วงปกติ โดยจะลดราคาสูงสุดถึง 80% ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับการจัดงาน “รวมใจ...ช่วยไทย...ลดรับปีใหม่” ในช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชน และทำให้ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้าสามารถผลิตและจำหน่ายสินค้าได้เพิ่มขึ้นด้วย

โดยในช่วงเวลาจัดลดราคาสินค้า “รวมใจ..ช่วยไทย..ลดรับเปิดเทอม” ในครั้งนี้ เชื่อว่าประชาชนจะมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น คาดว่าจะมียอดขายสินค้าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท สามารถช่วยลดภาระรายจ่ายผู้ปกครองและลดภาระค่าครองชีพประชาชนได้ประมาณร้อยละ 30 หรือคิดเป็นเงิน จำนวน 6,000 ล้านบาท ทำให้ประชาชนสามารถใช้จ่ายเท่าเดิมแต่ได้สินค้าเพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน  เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น และมีผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย