ทางออกนอกตำรา : ทลาย "อัล คาโปน" รถหรูเลี่ยงภาษี

26 เม.ย. 2560 | 09:53 น.
ทางออกนอกตำรา

โดย : บากบั่น บุญเลิศ 
ทลาย "อัล คาโปน" รถหรูเลี่ยงภาษี

ในไม่ช้านี้คดีการเลี่ยงภาษีนำเข้ารถหรูน่าจะตูมตามขึ้นมาบนหน้าสื่ออีกรอบ หลังจากเงียบหายไปกับสายลมมา 4-5 ปี

เมื่อ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ออกมาประกาศว่า ภายในเดือนกันยายนนี้ ป.ป.ช.จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับการสอบสวนคดีสินบนข้ามชาติ 1 คดี จาก 15 คดีที่ ป.ป.ช.สอบสวนอยู่

คดีดังกล่าว คือ "การเลี่ยงภาษีนำเข้ารถหรู" ที่มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนและกล่าวหาผู้บริหารระดับสูงในกรมศุลกากร อย่างน้อย 2 ราย ที่ดำรงตำแหน่งในช่วงที่เกิดเรื่องว่า ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ หรือทุจริตเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการนำเข้ารถอิสระ เพื่อแลกกับการไม่จับกุมดำเนินคดี กรณีหลีกเลี่ยงภาษีด้วยการสำแดงราคารถยนต์ที่นำเข้าจากต่างประเทศต่ำกว่าความเป็นจริง และมีพฤติการณ์ทุจริตรับราคารถนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีการสำแดงราคารถที่นำเข้าต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้ผู้นำเข้ารถเสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมน้อยกว่าที่ต้องชำระ

ประธาน ป.ป.ช.ระบุว่า ขณะนี้คดีมีความคืบหน้าไปมาก แม้จะมีการร้องเรียนเข้ามาหลายประเด็น มีรถที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก แต่คณะอนุกรรมการไต่สวนได้เอกสารหลักฐานครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว จึงจะสามารถสรุปเรื่องดังกล่าวได้ในเดือนกันยายน และจะใช้สำนวนหลักเป็นแนวทางในการพิจารณาสำนวนอื่นๆ ต่อไป

ผมมีโอกาสได้เห็นและอ่านผลการสอบสวนในคดีนี้ ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ทำรายงานสรุปถึง"น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี" ให้รับทราบอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงปลายปี 2555 และมีโอกาสพุดคุยกับอนุกรรมการของ ป.ป.ช.ในชุดที่มีการตั้ง" ภักดี โพธิศิริ" เป็นประธาน ภายหลังมีการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการโกงภาษีนำเข้ารถหรูจากต่างประเทศของบริษัทเอกชนกลุ่มหนึ่ง

พบว่า ป.ป.ช.มีการตั้งเรื่องเป็นแนวทางการสอบสวนไว้หลายอย่าง แต่เมื่อมีการสอบสวนก็พบข้อมูลที่น่าสนใจใน 4-5ประเด็น ดังนี้
1.มีกระบวนการจัดการเลี่ยงภาษีนำเข้ารถหรูอย่างเป็นขบวนการ โดยมีพ่อค้ารายใหญ่ 4-6 ราย ชักใยอยู่เบื้องหลังคอยจ่ายเงินให้ข้าราชการกรมศุลกากร ทั้งที่ท่าเรือแหลมฉบัง ยันผู้ใหญ่ในกรมศุลกากร

2.มีการปลอมแปลงชื่อบริษัทผู้นำเข้า โดยบริษัทที่นำเข้าจำนวนมากไม่มีตัวตนอยู่จริง

3.มีกระบวนการสำแดงราคารถที่นำเข้าต่ำกว่าความเป็นจริง โดยกลุ่มผู้นำเข้าและชิ้ปปิ้ง จะร่วมกันใช้วิธีการทำปลอมใบขนสินค้าขึ้นใหม่ (อินวอยซ์) โดยที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกลุ่มหนึ่งรู้เห็นเป็นใจ

4.มีการปลอมใบขนสินค้ากันอย่างโจ๋งครึ่มโดยชิปปิ้ง และเอกชนขาใหญ่ที่ไปเพ่นพ่านในแหลมฉบังจำนวนมาก เฉพาะประเด็นบริษัทผู้นำเข้ารถหรูนั้น ป.ป.ช.ประสานกับ ป.ป.ท.และข้อมูลในการตรวจสอบของ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ ตอนเป็นเลขาธิการ ป.ป.ท.พบว่า ในเมืองไทยมีบริษัทนำเข้ารถหรูอิสระอยู่กว่า 200 บริษัท บางบริษัทได้หยุดกิจการไปแล้ว แต่ยังมีหลักฐานการนำเข้ารถหรูมาจากต่างประเทศ

ชุดข้อมูลที่ตรงกันระหว่าง ป.ป.ท.กับ ป.ป.ช.ระบุชัดในเอกสารสำนวนการตรวจสอบ พบว่ากลุ่มผู้นำเข้ารถอิสระจะใช้ชื่อบริษัทที่จัดตั้งขึ้น โดยไม่ได้ประกอบธุรกิจจริง สั่งซื้อและนำเข้า รถจากประเทศอังกฤษและญี่ปุ่น เช่น รถเบ็นซ์ พอร์ซ เฟอร์รารี่ เบนลี่ โดยสำแดงราคานำเข้าที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ก่อนจะนำรถไปขายต่อให้กับเศรษฐีและกลุ่มนักการเมืองในราคาแพง

หลายคนสงสัยว่า รถหรูที่วิ่งอยู่ตามท้องถนนของเมืองไทยที่ผู้นำเข้ารถอิสระ หรือ “เกรย์มาร์เก็ต”เหล่านี้นำเข้ามามีจำนวนเท่าใด ข้อมูลของกรมศุลกากรระบุว่า เฉลี่ยปีละ 6,000-7,000 คัน รถทั้งหมดที่นำเข้ามาในแต่ละปีนั้นล้วนแล้วแต่สำแดงภาษีต่ำกว่าความเป็นจริงแทบทั้งสิ้น

การที่เอกชนสามารถสำแดงราคารถยนต์นำเข้าต่ำกว่าความเป็นจริงได้ มาจากการที่มีข้าราชการกลุ่มหนึ่งที่ทำงานกันเป็นระบบ เปิดทางให้มีการทำใบขนสินค้าขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งใบขนสินค้าที่ทำปลอมขึ้นใหม่นี้ จะสำแดงราคารถตามที่ผู้นำเข้าอิสระต้องการกำหนดว่ารถคันดักล่าวมีราคาเท่าใด โดยส่วนใหญ่จะสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง 2 เท่า ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีรถยนต์ปีละ 10,000 บาทต่อปี

ถามว่าเรื่องนี้เกี่ยวพันกับใคร ผมเก็บข้อมูลผู้ถูกกล่าวหาในคดีการหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้ารถยนต์หรูจากต่างประเทศ ซึ่งเว็บไซต์ของ ป.ป.ช.ระบุผู้ถูกกล่าวหา คือ "นายราฆพ ศรีศุภอรรถ" อดีตอธิบดีกรมศุลกากร กับนักวิชาการศุลกากรชำนาญการ
นายราฆพ ถูกกล่าวหาในขณะที่ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและปราบปราม กรมศุลกากร โดย ป.ป.ช.พบพฤติการณ์ใช้อำนาจโดยมิชอบ เรียกรับค่าตอบแทนการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศผิดกฎหมาย รวมถึงการสำแดงราคาภาษีที่ต่ำกว่าความเป็นจริง

ผมมีโอกาสถามนายราฆพในช่วงเป็นอธิบดีว่า เรื่องนี้จะทำอย่างไร นายราฆพซึ่งเป็นนักกฎหมายบอกว่า ถ้าผลการสอบสวนออกมาเป็นอย่างไร ก็เป็นไปตามนั้น

อย่างไรก็ตาม ในห้วงที่นายราฆพเป็นอธิบดีกรมศุลกากร เขาได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ 1 ชุด และสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ที่ถูกระบุว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการนำเข้ารถหรูออกจากพื้นที่จำนวนมาก
ขอบอกว่า คดีนี้ไม่ใช่มีเพียง “อดีตอธิบดีกรมศุลกากร-นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ” เท่านั้นที่ติดร่างแห ยังมีข้าราชการอีกกว่า 30 คน ที่ กุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากรคนปัจจุบันกำลังเงื้อดาบฟันอีก และจะสั่นสะท้านไปถึง “เจ๊แดง” คนดังด้วย เพราะเธอมีส่วนพัวพันในการสั่งการ ด้วยการกำหนด “เป้า”ให้ข้าราชการทำ

ในสีลวิมังสชาดก บอกว่า “ที่ลับในโลก ย่อมไม่มีแก่ผู้กระทำบาปกรรม ต้นไม้ที่เกิดในป่าก็ยังมีคนเห็น คนพาลย่อมสำคัญบาปกรรมนั้นว่าเป็นความลับ"

แปลความเป็นภาษาง่ายๆว่า "ความลับไม่มีในโลก แม้นไม่มีผู้อื่นทราบ ตัวเราเองย่อมรู้ดีอยู่แก่ใจ…."

 

คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา /หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ / ฉบับที่3256 ระหว่าง 27-29 เม.ย.2560