“ทรู” บล็อกเงินเถื่อน สกัดพนัน-เว็บโป๊-เกมออนไลน์หมื่นล้าน

26 เม.ย. 2560 | 06:04 น.
แฉธุรกิจผิดกฎหมายฟอกเงินผ่านบัตรเติมเงิน-ออนไลน์ทะลุหมื่นล้านต่อปี มากสุดพนันออนไลน์ รองลงมาเว็บโป๊ ดูหนัง-เล่นเกมอาศัยช่องโหว่ ก.ม.ตามไม่ทัน “ทรูมันนี่” เด้งรับตั้งทีมเฉพาะกิจรายงาน ปปง.

สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ออกหนังสือถึงสถาบันการเงิน 105 แห่ง เพื่อเร่งรัดรายงานธุรกรรมต้องสงสัยเข้าข่ายการฟอกเงิน ก่อนคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (FATF) จัดเรตติ้งของประเทศในเดือน ก.ค.60 แม้ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ยังให้ความร่วมมือเท่าที่ควร แต่ในส่วนผู้ให้บริการระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-payment) รายใหญ่ อย่าง บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด น่าพอใจ

นางสาว สราญรัตน์ ศรีจิรารัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงกรณีที่ธุรกิจผิดกฎหมายที่อาศัยช่องทางบัตรเติมเงิน เป็นช่องทางการชำระเงินสินค้า และบริการผิดกฎหมายผ่านทางออนไลน์ ยืนยันว่า บริษัทฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจและกำลังรวบรวมตัวเลข โดยที่ผ่ายมาบริษัทฯ ได้หารือร่วมกับ ปปง. พร้อมตั้งทีมงานขึ้นมาตรวจสอบเป็นการเฉพาะ เน้นไปที่ธุรกรรมต้องสงสัยและการปิดบัญชีลูกค้าที่อาจกระทำผิดหากทุกฝ่ายร่วมมือช่วยกันหาทางป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าและบริการผิดกฎหมายดำเนินธุรกิจได้ ก็อาจจะลดปัญหาได้

โดยที่ผ่านมาได้ปิดบัญชีธุรกรรมผิดปกติไปบ้างแต่ธุรกิจเหล่านี้ก็มีการเปลี่ยนชื่อบริษัท หรือมีการใช้การชำระค่าสินค้าและบริการผิดกฎหมายผ่านช่องทางบัตรเติมเงินรายอื่นๆ รวมทั้งการโอนเงินโมบายแบงก์กิ้งของธนาคารพาณิชย์
ผู้บริหารทรูมันนี่กล่าวว่า บัตรเติมเงินทรูมันนี่ สามารถหาซื้อง่าย เพราะมีวางจำหน่ายในเซเว่นอีเลฟเว่น จึงเป็นที่นิยม

สำหรับทรูมันนี่ จุดเริ่มต้นมาจากการให้บริการเติมเงินหรือซื้อไอเทม เกมออนไลน์ แต่ที่ผ่านมาอาจถูกนำไปใช้เป็นช่องทางชำระเงินของกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมาย ปัจจุบันทรูมันนี่มีลูกค้าในระบบ 20 ล้านราย ทรูวอลเล็ต 4 ล้านราย เป็นลูกค้าที่ใช้บริการเป็นประจำ (แอ็กทีฟ) 7 แสนราย ปี 2560 คาดการณ์ว่า ยอดธุรกรรมผ่านทรูมันนี่ 7.5 หมื่นล้านบาท

ผู้ให้บริการรับชมภาพยนตร์ออนไลน์ลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายรายหนึ่ง ประเมินว่าธุรกิจรับชมภาพยนตร์ออนไลน์มีมูลค่า 700-800 ล้านบาท 50% เป็นบริการรับชมภาพยนตร์ออนไลน์ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ ที่มีค่าบริการเริ่มต้นตั้งแต่เดือนละ 129 บาท อีก 50% เป็นเว็บที่ให้บริการภาพยนตร์ออนไลน์ละเมิดลิขสิทธิ์ ที่มีค่าบริการต่อเดือน 30 บาท เว็บไซต์เหล่านี้ไม่มีต้นทุนค่าลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ และเกือบ 100% ใช้ทรูมันนี่เป็นช่องทางชำระเงินค่าบริการ

โดยยอดธุรกรรมการเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์หรืออีวอลล์เล็ต อาทิ ทรูมันนี่และบัตรเติมเงิน ทั้งบัตรเติมเงินโทรศัพท์ บัตรเติมเงินทรูมันนี่และบัตรเติมเงินเกมมีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ มากกว่าหมื่นล้านจะมาจากเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นที่เข้าข่ายให้บริการผิดกฎหมาย หรือคิดเป็น 10% ของระบบบัตรเติมเงินในประเทศจำนวน 1 แสนล้านบาทต่อปี ส่วนใหญ่ผ่านช่องทางการพนันออนไลน์ ทั้งคาสิโนและพนันฟุตบอล ที่เหลือเล่นเกม ดูหนังออนไลน์ ภาพยนตร์ลามกอนาจารหรือเว็บโป๊

รูปแบบพนันออนไลน์คือเกมพนันแทบทุกประเภท มี 4 ประเภท คือ 1.ลอตเตอรี่ออนไลน์ 2.เกมพนันที่เกี่ยวกับพวกกีฬา ทั้งฟุตบอล บาสเกตบอล ว่ายน้ำ 3.พนันตามคาสิโน เช่น บาคาร่า รูเล็ตออนไลน์ หรือแบล็คแจ๊ค 4.พนันทั่วไป
ด้านนายทวีชัย ภูริทิพย์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัททีทูพี จำกัด ผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ “DeepPocket” กล่าวว่า แม้ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งจาก ปปง.ให้ส่งข้อมูลการทำธุรกรรมผ่านระบบ DeepPocket แต่บริษัท ได้มีการนำส่งข้อมูลตามกฎเกณฑ์ที่ปปง. กำหนดไว้อยู่แล้ว อาทิ ธุรกรรมต่อเนื่องเกิน 7 แสนบาท หรือ ข้อมูลที่ตรวจสอบพบว่ามีธุรกรรมผิดปกติ

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,256 วันที่ 27 - 29 เมษายน พ.ศ. 2560