‘เซตซีโร่’องค์กรอิสระ ‘ศาลรธน.-ปปช.-กกต.’ส่อสรรหาเพิ่ม-เลือกประธานใหม่

28 เม.ย. 2560 | 06:00 น.
10 กรรมการองค์กรอิสระจ่อหลุดเก้าอี้ “ปัญญา”ตุลาการศาลรธน. “ประวิช-สมชัย” กกต. ด้านป.ป.ช.ลุ้นสูงสุด 7 ราย “วัชรพล-ณรงค์-ปรีชา–วิทยา-สถาพร-บุณยวัจน์-สุภา” จับตากระบวนการสรรหา-เลือกประธานใหม่

หลังจากที่รัฐธรรมนูญ2560 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการความชัดเจนเรื่องหลักเกณฑ์คุณสมบัติของกรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงน่าสนใจอย่าวยิ่ง

จากการตรวจสอบของ“ฐานเศรษฐกิจ” ใน 3 องค์กรอิสระ คือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พบว่า มี 10 รายด้วยกันที่ส่อพ้นตำแหน่ง ไฮไลท์สำคัญ คือ ทั้ง 3 องค์กรดังกล่าว นอกจากจะต้องมีสรรหาคนใหม่มาแทนที่คนเก่าแล้ว คาดว่ายังต้องสรรหาตัวประธานกันใหม่เพื่อส่งรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ อีกด้วย

เริ่มที่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนอกจากกรณีที่ 5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องพ้นจากตำแหน่งไปเนื่องจากครบวาระการดำรงตำแหน่ง ประกอบด้วย จากสายศาลฎีกา 3 ราย คือ นายนุรักษ์ มาประณีต ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายชัช ชลวร และนายบุญส่ง กุลบุปผาส่วน 1 รายมาจากสายศาลปกครอง คือ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรีและสายผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ คือ นายจรัญ ภักดีธนากุล

เหลือที่ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อ 4 ราย คือ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ และนายวรวิทย์ กังศศิเทียม จากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดนายนครินทร์เมฆไตรรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ และนายปัญญาอุดชาชนผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์

อย่างไรก็ตาม เมื่อพลิกหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญใหม่มาตรา 200 (3) และ (4) ที่กำหนดให้ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขานั้น ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีและยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์จำนวน 1 คนนั้น นายปัญญาซึ่งไม่เคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ตำแหน่งสุดท้ายก่อนได้รับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่ปรึกษาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจึงขัดมาตรา 200(4) ส่อหลุดจากเก้าอี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่แน่นอนซึ่งจะส่งผลให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเหลืออยู่เพียง 3 ราย จากที่มีได้ 9 ราย ซี่งนอกจากจะต้องสรรหาใหม่ทั้ง 6 รายแล้วในจำนวนนี้ยังต้องมีการสรรหาผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่อีกด้วย

  กกต.ลุ้นหลุดเก้าอี้2ตำแหน่ง
มาถึง “5 เสือ กกต.” ที่สะเทือนไม่แพ้กันเพราะเมื่อเทียบเคียงกับคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว พบว่า นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านการมีส่วนร่วมอาจเข้าข่ายต้องพ้นจากตำแหน่งจากกรณีที่เคยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม 2554 - 24 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 216 (3) ประกอบมาตรา 202 (1) ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งยังเคยดำรงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ระหว่างปี 2548-2549 เมื่อนับถึงวันเข้ารับการสรรหาเป็นกกต.เมื่อเดือนกันยายน 2556 นั้น พ้นจากการเป็นข้าราชการการเมืองมาเพียง 7 ปีจึงเข้าลักษณะต้องห้ามการดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระตามมาตรา216 (3) ประกอบมาตรา202 (4) ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ต้องพ้นสภาพ 10 ปี รวมถึง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้งซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรองอธิบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 2548 มีประสบการณ์เคยทำงานในองค์กรเอกชนตรวจสอบการเลือกตั้งอย่างองค์กรกลางมาเป็นเวลามากกว่า 24 ปีนั้นจะถือว่า เป็นคุณสมบัติตามมาตรา222 วรรคท้ายของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำหนดว่าต้องเป็นผู้ทำงานหรือเคยทำงานในภาคประชาสังคมมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปีหรือไม่ต้องให้คณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด

ทั้งนี้ในส่วนของ กกต.จากเดิมมี 5 ราย หากหายไป 1-2 ราย ขณะที่รัฐธรรมนูญใหม่กำหนดให้มี กกต.ได้ 7 คน จึงต้องสรรหาคนใหม่เพิ่มเติมแน่นอน รวมถึงอาจต้องสรรหาผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานกกต.ใหม่ด้วยเช่นเดียวกัน

  ป.ป.ช.จ่อพ้นเก้าอี้ 7ราย
ขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.นั้น คุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญใหม่ พบส่อพ้นเก้าอี้มากที่สุดถึง 7 ราย เริ่มจากพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจประธานป.ป.ช.ซึ่งเคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง(พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ) เมื่อปี 2557 ซึ่งตาม มาตรา 216 (3) ประกอบมาตรา(4) ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดให้ต้องพ้นจากข้าราชการการเมืองมาแล้ว10 ปีรวมถึงนายวิทยา อาคมพิทักษ์ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ในปี 2557 เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระตามมาตรา 216 (3) ประกอบมาตรา 202 (1) ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เช่นกัน

นอกจากนี้ยังมี นายณรงค์ รัฐอมฤตเคยดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการป.ป.ช. เมื่อปี 2552 ซึ่งไม่ได้เป็นหัวหน้าหน่วยงานและไม่อาจนำมาเทียบเคียงกับตำแหน่งอธิบดีได้แม้จะขยับขึ้นเป็นเลขาธิการป.ป.ช.เทียบเท่าอธิบดีและหัวหน้าส่วนราชการ(ซี 11)ในปี 2555 แต่เมื่อนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งดังกล่าวจนเข้าการสรรหาเป็น ป.ป.ช. เมื่อปี 2556 นั้นยังไม่ถึง 5 ปี จึงส่อขาดคุณสมบัติดำรงตำแหน่งตามมาตรา 232 (2) ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ขณะที่นายปรีชา เลิศกมลมาศลูกหม้อ ป.ป.ช. เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการป.ป.ช. มาตั้งแต่ปี 2547-2552 และขึ้นเป็นเลขาธิการป.ป.ช.ปี 2552 เทียบเท่าอธิบดีและหัวหน้าส่วนราชการแต่เมื่อนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งจนเข้ารับการสรรหาเป็นป.ป.ช. เมื่อปี 2553 ยังไม่ครบ 5 ปี อาจเข้าข่ายอีกราย

สำหรับพล.ต.อ.สถาพร หลาวทองซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ปี 2548 ก่อนย้ายมาเป็นจเรตำรวจ เกษียณอายุราชการเมื่อปี 2555 แม้ว่าตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาตินั้นจะเทียบเท่ากับตำแหน่งอธิบดีแต่เมื่อนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งดังกล่าวจนเข้าสรรหาเป็น ป.ป.ช. ไม่ครบ 5 ปี มีลักษณะเดียวกันกับกรณีของพล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกลาโหม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554- 30 กันยายน 2555 ซึ่งเป็นการบ้านของ กรรมการสรรหาที่ต้องตีความตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกลาโหมว่าเทียบเท่าอธิบดีแล้วเมื่อนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งจะเข้าเงื่อนไขคุณสมบัติ ป.ป.ช.หรือไม่ด้วย

คล้ายคลึงกับกรณีของนางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช.เนื่องจากข้อมูลระบุว่า เคยดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลังปี 2549 ก่อนขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจปี 2552 กระทั่งได้ขึ้นเป็นรองปลัดกระทรวงการคลังเทียบเท่าอธิบดี (ระดับซี 10) อีกครั้งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ได้รับการสรรหาเข้ามาทำหน้าที่ป.ป.ช.แทนนายใจเด็ด พรไชยาซึ่งอายุครบวาระ 70 ปี เมื่อปี 2557 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 232 (2) กำหนดให้รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีเช่นกัน รวมแล้วมีอย่างน้อย 5 รายต้องให้คณะกรรมการสรรหาเป็นผู้ชี้ขาด

 กรธ.ร่างกฎหมายมุ่งผลสัมฤทธิ์
นายอุดม รัฐอมฤตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) อธิบายหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญนี้โดยยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นถึงความเข้มข้นของการทำกฎหมายเพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์แก้ปัญหาที่สะสมมานาน ดังเช่น กรธ.ได้เพิ่มจำนวนและหลักเกณฑ์คุณสมบัติขององค์กรอิสระอย่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่กำหนดให้ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านกฎหมายเคยดำรงตำแหน่งไม่ตํ่ากว่าอธิบดีผู้พิพากษา หรือตำแหน่งไม่ตํ่ากว่าอธิบดีอัยการมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือมีตำแหน่งทางวิชาการระดับศาสตราจารย์ เป็นต้น

เนื่องจากกรธ.เชื่อว่า การเลือกตั้ง เป็นด่านแรกในการคัดเลือกคนเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งดังนั้น ผู้ที่จะมาเป็น กกต. นอกจากจะต้องมีความเสียสละ ทำงานคิดถึงส่วนรวมเป็นทุนแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่มี “สมอง” มากเพียงพออีกด้วย

กฎหมายเดิมกำหนดให้กกต.มี 5 คน แต่กฎหมายใหม่กำหนดให้มี 7 คน โดย 2 คนแรกได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ส่วนอีก 5 รายนั้นกำหนดให้ได้รับการสรรหาจากผู้มีประสบการณ์ มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการบริหารและจัดการการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม

วันนี้ กกต.ไม่ได้ทำหน้าที่แค่จัดให้มีการเลือกตั้งซึ่งถือเป็นบทบาท หรือหมวกใบที่ 1 แต่ กรธ.คาดหวังที่จะเห็นบทบาทหมวกใบที่ 2 ควบคู่กันด้วย นั่นก็คือ การบริหารงานองค์กรที่ต้องคิด ต้องสร้างโครงการ หรือมีมาตรการใหม่ๆโดยเฉพาะให้ประชาชนมีส่วนร่วม เป็นต้น

[caption id="attachment_143817" align="aligncenter" width="214"] ‘เซตซีโร่’องค์กรอิสระ ‘ศาลรธน.-ปปช.-กกต.’ส่อสรรหาเพิ่ม-เลือกประธานใหม่ ‘เซตซีโร่’องค์กรอิสระ ‘ศาลรธน.-ปปช.-กกต.’ส่อสรรหาเพิ่ม-เลือกประธานใหม่[/caption]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,256 วันที่ 27 - 29 เมษายน พ.ศ. 2560