บจ.เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า EGCO ตุนอีก1,000 เมกะวัตต์

26 เม.ย. 2560 | 02:12 น.
เตือนผู้ถือหุ้น CWT คิดให้ดีก่อนโหวตให้ลงทุน959 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นไทยโซลาร์ฯไฟเขียวลงทุนญี่ปุ่นเฉียด 2 หมื่นล้านบาท ส่วน ETE บอร์ดอนุมัติเข้าประมูลไฟฟ้าราชการ 55 เมกะวัตต์

นายสมบัติ ศานติจารีประธานกรรมการ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) หรือ EGCO เป็นประธานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น กล่าวในที่ประชุมว่า บริษัทตั้งเป้าที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนและรักษาอัตราผลตอบแทนส่วนผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 10% ภายใต้กลยุทธ์การดำเนินงาน คือ 1 การบริหารสินทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และเดินหน้าลงทุนโรงไฟฟ้า ทั้งนี้ไม่มีแผนลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นหลังจากพาร์ตเนอร์ญี่ปุ่นที่มีอยู่2 รายไม่แนะนำให้ลงทุน เพราะบริษัทมีทางเลือกในการลงทุนที่ดีกว่าที่ญี่ปุ่น

ปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้า24 โรง รวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 4,122 เมกะวัตต์ และจะมีเพิ่มอีกประมาณ 1,000 เมกะวัตต์แบ่งเป็นโครงการที่กำลังก่อสร้างอยู่ 6 โครงการ กำลังผลิตรวม869 เมกะวัตต์ ทยอยเดินเครื่องขายไฟฟ้าในปี 2560-2562 และอยู่ระหว่างการโอนหุ้น 1 โครงการขนาด 128 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีการลงทุนในเอเชีย 5 ประเทศได้แก่ ไทย ลาว ฟิลิปปินส์อินโดนีเซีย และออสเตรเลียล่าสุดประสบความสำเร็จในการโอนหุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ “ซาลัก” และ “ดาราจัท” ในประเทศอินโดนีเซียในสัดส่วน 20.07% มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 402 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไอนํ้ารวมทั้งสิ้น 235 เมกะวัตต์ โดยมีสัญญาซื้อขายกับการไฟฟ้าประเทศอินโดนีเซีย (PLN)

ด้านสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขอให้ผู้ถือหุ้นบริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT ศึกษาข้อมูลและไปใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 27 เมษายน 2560ในวาระพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวล มูลค่า959 ล้านบาท ผ่านบริษัทย่อยคือ โคกเจริญ กรีน เอ็นเนอร์ยี่โดยก.ล.ต.มีข้อสงสัยอย่างมากว่าการลงทุนดังกล่าวอาจทำให้ผู้ถือหุ้นเสียประโยชน์ จึงให้กรรมการบริษัทชี้แจงเพิ่มเติมเป็นรายบุคคลซึ่ง ก.ล.ต. อยู่ระหว่างพิจารณาว่าคำชี้แจงดังกล่าวสมเหตุสมผลหรือไม่ ขณะที่ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระมีความเห็นว่า ข้อตกลงทางธุรกิจของบริษัท โคกเจริญฯมีบางเรื่องไม่สมเหตุสมผล

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการCWTมีมติให้เข้าลงทุนในหุ้นของบริษัท โคกเจริญฯ กำหนดเงื่อนไขชำระเงินเบือ้ งต้น 50 ล้านบาท และจะชำระส่วนที่เหลืออีก 20 ล้านบาท เมื่อผู้ขายดำเนินการตามสัญญาแล้วเสร็จ แต่กลับชำระส่วนที่เหลืออีก 20 ล้านบาทโดยไม่รอตามเงื่อนไข นอกจากนี้ บริษัทยังซื้อที่ดินใหม่มูลค่า 28.36 ล้านบาท ภายหลังการลงทุนเพิ่งพบว่าที่ดินที่จะเช่าเดิมไม่เหมาะสม และการยื่นเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับการขออนุญาตผลิตไฟฟ้าที่ผู้ขายทำไว้เดิมยังไม่ถูกต้องครบถ้วน ก.ล.ต.จึงมีข้อสงสัยการลงทุนว่าทำด้วยความระมัดระวังและเป็นประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้นหรือไม่

นางแคทลีน มาลีนนท์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน) หรือ TSE เปิดเผยว่าผู้ถือหุ้น ลงมติอนุมัติให้ TSE เข้าลงทุน โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ประเภทติดตั้งบนพื้นดินประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต154.98 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ 2,080 ไร่ ราคาขายไฟแบบ FIT อัตรา 36 เยนต่อหน่วย มูลค่าการลงทุนรวมทั้งหมดประมาณ 19,658 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถดำเนินการจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ได้ภายในปี 2565

นายไรวินท์ เลขวรนันท์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่งจำกัด (มหาชน) หรือ ETE เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติในการยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการ และสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะที่2 ซึ่งมีเป้าหมายจำนวนทั้งสิ้น55 เมกะวัตต์ และอนุมัติตั้งบริษัทย่อย ประกอบกิจการจัดหาและจำหน่ายสินค้ากลุ่มอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย ทั้งนี้ในระยะแรกประสบความสำเร็จทั้ง 4 โครงการจำนวน 16.47 เมกะวัตต์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,256 วันที่ 27 - 29 เมษายน พ.ศ. 2560