ช.การช่าง‘เราไม่คอร์รัปชัน’

29 เม.ย. 2560 | 05:00 น.
ในปีนี้บริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) หรือ CK Group ได้ดำเนินธุรกิจมาครบ 45ปี และเป็นการบริหารโดยเจเนอเรชันรุ่น 2 “สุภามาส ตรีวิศวเวทย์”บุตรสาวคนโต มารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ประมาณปีเศษ (1 ก.ค. 58) ทิศทางของช.การช่าง ในทศวรรษที่ 5 จะเป็น อย่างไร เธอให้สัมภาษณ์พิเศษ“ฐานเศรษฐกิจ” ดังนี้...

 ทิศทางในอนาคต
ตอนนี้ใครๆ ก็พูดถึงอนาคตคือ ไทยแลนด์ 4.0 ยุคใหม่จะเป็นอย่างไร อย่าง ช.การช่างก็เพิ่งจะปรับเปลี่ยนผู้บริหารทุกคนก็สนใจว่าเราจะมองไปข้างหน้าอย่างไรบ้าง สิ่งแรกที่เราเข้ามารับงาน เราค่อนข้างสบายใจมาก

เพราะพื้นฐานธุรกิจเรายังแข็งแรงและประเทศไทยก็ยังมีความต้องการทางด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานอีกมาก โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีนีี้ทางรัฐบาลก็มีความมุ่งมั่นที่จะให้โครงการสาธารณูปโภคเหล่านี้เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และในระยะ 5 ปีก็ยังมีโครงการอื่นๆ อีกมากเช่นโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC), โครงการสมาร์ทซิตี้, การเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยกับเออีซี ซึ่งหมายความต้องมีโครงการสาธารณูปโภคเข้ามารองรับซึ่งอยู่ในธุรกิจเวทีของ “CK Group” และหากจะมองไปอนาคต 20 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจในประเทศยังแข็งแรง เราก็ยังมีงานได้อย่างต่อเนื่องถือเป็นความโชคดีมาก

“เทคโนโลยีที่เข้ามาใหม่ทำให้ความต้องการลูกค้าเปลี่ยนไป เช่นต้องการตึกที่สมาร์ท ต้องการระบบรถไฟฟ้าที่เหมาะสมกับเมือง ลดมลพิษ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของเราต้องเข้าไปไขว่คว้า พัฒนาตัวเองให้ทัน

 เพิ่มน้ำหนักกับสัมปทานรัฐ
ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเปิดโอกาสอีกประเด็นก็คือความพร้อมของ CK Group ซึ่งเรามีทั้ง BEM (บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ) ที่ดูแลทางด้านรถไฟฟ้า ทางด่วนมีTTW (บมจ.ทีทีดับบลิว) ดูแลสัมปทานเรื่องนํ้าประปา และตัวล่าสุดคือ CKP (บมจ.ซีเคพาวเวอร์) ดูแลโครงการสัมปทาน โรงไฟฟ้าต่าง ๆ ทั้งพลังนํ้า พลังแสงอาทิตย์ และพลังแก๊ส ทั้งหมดจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจากที่เราฟูมฟักเขามากว่า 10 ปี ทุกบริษัทเข้มแข็งมีศักยภาพที่จะลงทุนด้วยตนเองและสามารถที่จะไฟแนนซิ่งด้วตนเองได้ทั้งนั้น

อย่าง BEM มีขนาดมาร์เก็ตแคปใหญ่กว่าช.การช่างแล้ว ฉะนั้นด้วยโอกาสที่จะได้โครงการมีเยอะจากความพร้อมของ ช.การช่างและบริษัทในเครือสามารถรองรับโดยช.การช่างก็อาจเข้าไปรับงานก่อสร้างขณะที่บริษัทในเครือก็ไปรับสัมปทานก็เป็นได้ หรือถ้าเป็นโครงการใหญ่ก็สามารถจะร่วมลงทุนกันได้

 บทเรียนจากการประมูล
ต้องยอมรับว่าบริษัทที่ได้ไปเขาก็มีข้อเสนอที่สามารถดึงดูดได้ดีกว่า ศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันในหลาย ๆ เรื่องว่าเหมาะกับโครงการนั้น

ส่วนเราเองคิดว่ายังมีอีกหลายโครงการที่จะออกมาอีก และเราก็พร้อม เช่น ถ้าเป็นรถไฟฟ้าสีนํ้าเงิน ที่เรา (BEM) โอเปอเรตอยู่แล้วเราคิดว่าน่าจะมีศักยภาพและมีความสามารถในการแข่งขันมากกว่ารายอื่นเราก็คงไปโฟกัสในส่วนที่มีความได้เปรียบคู่แข่ง

 จุดเชื่อมต่อสายสีม่วงกับสีน้ำเงิน
คือทางรัฐบาลท่านก็ให้นโยบายชัดเจนมาแล้ว ก็มีม. 44 ออกมาให้ช่วยกันดูแลแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้เร็วที่สุดเพราะว่าเป็นผลกระทบกับประชาชนทั่วไป มุมของเราก็ต้องรอเจ้าของงานว่าท่านจะอนุญาตให้เราเข้าพื้นที่ทำงานได้ไหมแต่ว่าเมื่อตอนนี้เคลียร์ออกมาแล้วด้วยนโยบายที่ชัดเจน เราก็ทำงานสปีดเต็มที่เพื่อที่จะให้เชื่อมต่อได้เร็วที่สุด

คิดว่าเร็วๆนี้ น่าจะแก้ปัญหาจุดนั้นไปได้ เท่ากับสายสีม่วง BEM (บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ) ดูแลอยู่ สีนํ้าเงินก็ BEM ส่วนที่จะต่อไปฝั่งธนหรือส่วนต่อขยายก็มีมติครม.ตรงนี้ว่าให้เสร็จก็น่าจะเซ็นสัญญาได้เมื่อเซ็นสัญญาแล้วทางBEM ก็น่าจะมาจ้างช.การช่างไปดูแลเรื่องการติดตั้งต่างๆซื้อตัวรถซึ่งก็น่าจะดำเนินการไปได้สีม่วง ส่วนต่อขยายเราก็มั่นใจในความพร้อมเมื่อไรที่รัฐเปิดเราก็พร้อมที่จะเข้าไป

 การประมูล-เงินใต้โต๊ะ
ทั้งคุณพ่อ (ปลิว ตรีวิศวเวทย์) และผู้บริหารรุ่นก่อตั้งท่านเหล่านี้จะพูดเสมอว่าต้องทำงานด้วยความมีจรรยาบรรณและจริยธรรม คือเรื่องแบบนี้ต้องไม่ทำและเราเลือกที่จะมีจุดยืนตรงนี้มานานแล้ว และเมื่อมาถึงจุดตรงนี้สังคมมองอย่าง มากๆ ว่าเป็นธุรกิจที่สีเทาในทั่วไปเราก็ไม่รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร คือเราทำได้เพราะเราคอนโทรล (กำกับ)ตัวเอง อย่างช่วงตอนนี้มีเรื่อง CG

เรื่องการต้านคอร์รัปชันที่ต้องการให้บริษัทจดทะเบียนออกมาแสดงจุดยืนเราเองก็ได้ประกาศนโยบาย จรรยาบรรณให้พนักงานได้รับทราบว่าต้องไม่คอร์รัปชันนะไม่ว่าจะเป็นการจ่ายให้กับเจ้าพนักงาน ซับคอนแทร็กต์เราจะไม่ทำนโยบายของเราหากใครเห็นว่ามี ทำเช่นนั้น เราถือว่าผิดกฎหมายอันนี้เป็นจุดแรกที่เราทำและต้องพยายามรักษาจุดยืนและถ้ามีบุคคล thirdparty จะขอเข้ามาดูกระบวนงานต่างๆ เราก็ยินดีให้ตรวจสอบได้

 รายได้จากต่างประเทศ
ถ้าในมุมก่อสร้างขณะนี้รายได้จากต่างประเทศเข้ามาเยอะโครงการไซยะบุรีถือว่าเป็นไซต์ที่ใหญ่ที่สุดในแบ็กล็อกของเราส่วนโครงการพลังนํ้าที่ลาวก็ถือว่าเป็นโครงการใหญ่อีกโครงการตอนนี้ทาง CKP กำลังคุยอยู่

ปัจจุบัน backlog (โครงการรอรับรู้รายได้) ของช.การช่าง ถ้าเป็นมูลค่าโปรเจ็กต์เกินแสนล้านบาทไปแล้ว แต่ถ้าดูเฉพาะโครงการที่เหลือรอรับรู้รายได้อยู่ที่ 8หมื่นล้านบาท เรียกว่าสบายใจหน่อยยังอยู่ได้ 2-3 ปีถ้าไม่มีงานใหม่ๆเข้ามา มั่นใจว่าแต่ละปีจะได้งานประมูลเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,256 วันที่ 27 - 29 เมษายน พ.ศ. 2560