‘Welse’ไอโอทีการแพทย์ แอพตรวจสุขภาพจากมันสมองเด็กไทย

29 เม.ย. 2560 | 08:00 น.
เปิดใจทีม Welse นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 3 คนได้แก่ นายคเณศ เขมานิธิ นายพสธร สุวรรณศรี และนายภาสกร จันทรมหา ผู้ชนะการประกวด “อิมเมจิ้นคัพ 2017” เวทีระดับประเทศ 100 ทีม ได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันระดับภูมิภาคอาเซียนที่ฟิลิปปินส์ เพื่อชิงตำแหน่งตัวแทนของภูมิภาคไปแข่งรอบชิงชนะเลิศที่ซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา

Welse นำเสนออุปกรณ์อินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง(IOT) แบบพกพาที่ช่วยสร้างการทดสอบเชิงคลินิก (Clinical Test) ของเลือด และส่งผลไปยังแอพพลิเคชัน เพื่อการวิเคราะห์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการสื่อสารและอำนวยความสะดวกในเรื่องการทำงานให้กับเครือข่ายอาสาสมัครและสถานีอนามัยท้องถิ่น

นายคเณศ เขมานิธิ ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นมาเป็นเครื่องมือตรวจวัดทางการแพทย์ที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับแอพพลิเคชันในการตรวจวัดวิเคราะห์ผล และอุปกรณ์อีกส่วนคือการจำลองแล็บวิจัยทางการแพทย์ให้มีขนาดเล็กลง โดยพัฒนาจากอุปกรณ์ที่มีอยู่ในท้องตลาด เช่น อุปกรณ์วัดระดับน้ำตาลในเลือด อุปกรณ์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ อุปกรณ์ในการวัดไขมันในเลือด

“ในการพัฒนาอุปกรณ์ตัวนี้ขึ้นมาก็เพื่อเป็นฐานข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่สามารถรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับสุขภาพเอาไว้ในที่เดียว โดยบุคลากรทางการแพทย์สามารถเข้าถึงได้เลย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจ็กต์”

ส่วนเป้าหมายที่จะพัฒนาต่อยอดอุปกรณ์นี้ให้เป็นอุปกรณ์เพื่อตรวจค่าความผิดปกติของตับผ่านการวัดเอนไซม์ในเลือด 3 ชนิดและมีการเชื่อมโยงข้อมูลจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจวัดต่างๆ เข้ากับแอพพลิเคชันที่สามารถอ่านค่าและวิเคราะห์ผลตรวจให้ตรงกับเกณฑ์มาตรฐานในการตรวจวัดทางการแพทย์ได้

แอพพลิเคชันจะสามารถลงทะเบียนและระบุตัวตนหรือผลการตรวจของแต่ละบุคคลได้ อีกทั้งยังสามารถแชร์ผลการตรวจไปยังบุคคลที่ต้องการได้อีกด้วย โดยการตรวจวัดจะเป็นแบบ Screening Test ขั้นพื้นฐานเพื่อความสะดวกในการตรวจสุขภาพพื้นฐาน ด้วยการลดจำนวนเลือดที่ใช้ในการตรวจ ลดระยะเวลาในการวิเคราะห์ผลเนื่องจากการวิเคราะห์ผลจากแล็บโดยปกติใช้เวลานาน 1-2 ชั่วโมงแต่อุปกรณ์นี้สามารถตรวจวิเคราะห์ผลได้ภายใน 6 วินาที

ขณะเดียวกันช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ด้วย เพราะการตรวจค่าเอนไซม์ต่างๆ ตามโรงพยาบาลเช่นโรงพยาบาลรัฐ การตรวจแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่าย เอนไซม์ละ 50 บาท แต่สำหรับอุปกรณ์นี้ในการตรวจ 3 เอนไซม์มีค่าใช้จ่าย เพียง 10-20 บาท

สำหรับอุปกรณ์นี้วางแผนจำหน่ายให้กับหน่วยงานทางการแพทย์ องค์กรสาธรณสุขหรือบริษัทที่ให้บริการทางการแพทย์ ในอนาคตหากมีการพัฒนาอุปกรณ์ให้สามารถใช้งานได้โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนหรือความผิดพลาดของข้อมูลน้อยที่สุดที่ผ่านมาตรฐานด้านการแพทย์แล้วอาจจะมีการนำไปวางจำหน่ายตามร้านขายยาในระดับอำเภอหรือตำบลที่มีบุคลากรทางการแพทย์คอยดูแลได้เบื้องต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,256 วันที่ 27 - 29 เมษายน พ.ศ. 2560