บริษัทผู้ผลิตมีแนวโน้มเลือกอาเซียนเป็นฐานการผลิตแทนจีน

25 เม.ย. 2560 | 05:28 น.
บริษัทผู้ผลิตมีแนวโน้มเลือกอาเซียนเป็นฐานการผลิตแทนจีน คาดอสังหาริมทรัพย์เชิงอุตสาหกรรมได้รับอานิสงค์

25 เมษายน 2560 - บริษัทผู้ผลิตจำนวนมากขึ้นเลือกใช้ประเทศในอาเซียนเป็นฐานการผลิตแทนการเลือกจีน เนื่องจากหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งผลิตที่มีต้นทุนถูกกว่า การบริโภคภายในประเทศสูงขึ้น และระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานกำลังได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น แนวโน้มที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลดีต่ออสังหาริมทรัพย์เชิงอุตสาหกรรม (นิคมอุตสาหกรรม โรงงาน โกดัง-ศูนย์กระจายสินค้า รวมถึงที่ดินสำหรับพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่อง) ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยคาดว่า การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้ในบางประเทศอาจให้ผลตอบการลงทุนได้สูงถึง 10% ตามรายงานการวิจัยที่มีชื่อว่า A Revival of Southeast Asia Manufacturing Hubs (การคืนชีพของศูนย์กลางการผลิตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) จากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล

รายการฉบับดังกล่าว ระบุว่า การขยายตัวของภาคการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีผลกระทบเชิงลบต่อจีน ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จีนได้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ภาคบริการ และการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น ประกอบกับค่าจ้างแรงงานและต้นทุนราคาที่ดินที่สูงขึ้น ส่งผลให้ภาคการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกของจีนชะลอตัวลง ในขณะที่บริษัทต่างๆ ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ อาทิ อินโดนีเซียและเวียดนามซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า ดังนั้น ภาคการส่งออกของอินโดนีเซียในช่วงปี 2554-2559 จึงมีอัตราการขยายตัวเพิ่มอยู่ระหว่าง 5%-6% ต่อปี ในขณะที่การส่งออกของเวียดนามขยายตัวเฉลี่ย 16% ต่อปีในช่วงเดียวกัน
นางสาวเรจินา ลิม ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยประจำหน่วยธุรกิจบริการด้านการลงทุนภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเจแอลแอล กล่าวว่า “ในบรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซียและเวียดนามนับเป็นดาวเด่น โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา ภาคการผลิตของอินโดนีเซียมีการขยายตัว 5% ในขณะที่มีการคาดการณ์ว่า จากปี 2560-2564 อัตราการขยายตัวจะอยู่ระหว่าง 6%-7% ต่อปีจากปัจจัยบวกต่างๆ ได้แก่ ค่าเงินที่มีเสถียรภาพมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านเศรษฐกิจ ส่วนเวียดนามมีจุดแข็งสำคัญที่การมีแรงงานหนุ่มสาวที่มีทักษะ ต้นทุนค่อนข้างต่ำ และการเมืองที่มีเสถียรภาพ”

“แม้ภาคการผลิตเพื่อส่งออกของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกำลังอยู่ในช่วงบูม แต่ยังมีประเด็นบางประเด็นที่เป็นความท้าทายในระยะปานกลางที่ต้องพิจารณา อาทิ ความสามารถในการยกระดับห่วงโซ่คุณค่า (value chain) จะขึ้นอยู่กับว่าต้นทุนการผลิตในจีนจะปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อไปอีกมากน้อยเพียงใด การขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง การพัฒนาคุณภาพการศึกษา ความพร้อมด้านสาธารณูปโภค และการผ่อนปรนกฎหมาย-กฎระเบียบในการประกอบธุรกิจ” นางสาวลิมกล่าว

ในแง่ของคุณภาพการศึกษาและทักษะแรงงาน รายงานฉบับดังกล่าวของเจแอลแอลระบุว่า เวียดนามมีพัฒนาการที่รวดเร็ว ในขณะที่ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ยังทำได้ไม่ดีในประเด็นเดียวกันนี้ นอกจากนี้ แม้อาเซียนจะค่อนข้างมีข้อดีในเรื่องของการมีแรงงานจำนวนมากที่อยู่ในวันหนุ่มสาวและมีการศึกษา แต่ยังต้องพัฒนาต่อไปอีกเพื่อให้ก้าวตามจีนได้ทัน ทั้งนี้ นโยบายของภาครัฐฯ ในการพัฒนาให้แรงงานมีทักษะและความสามารถที่สูงขึ้นจะมีส่วนช่วยให้ประเทศอาเซียนมีความพร้อมมากขึ้นในการรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม
ในขณะที่จีนจะมีข้อได้เปรียบในเรื่องของการมีสาธารณูปโภคที่ดีกว่า การเชื่อมโยงสาธารณูปโภคของประเทศในกลุ่มอาเซียนกำลังมีพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยได้มีบริษัทข้ามชาติหลายรายเสนอให้การสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและเส้นทางเชื่อมโยงระบบคมนาคมในเมืองต่างๆ นโยบาย One Belt One Road ของจีน ซึ่งมุ่งหวังสร้างสาธารณูปโภคเชื่อมโยงจีนกับภูมิภาคต่างๆ ของโลก จะช่วยให้การค้าภายในและระหว่างประเทศของอาเซียนและจีนมีความคล่องตัวมากขึ้น

นอกจากนี้ รายงานดัชนีความโปร่งในตลาดอสังหาริมทรัพย์โลกฉบับล่าสุดของเจแอลแอล ยังระบุด้วยว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในทุกประเทศของอาเซียนมีคะแนนค่าดัชนีความโปร่งใสสูงขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นและกล้ามากขึ้นที่จะเข้ามาลงทุนทั้งในภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่อง

นางสาวลิม กล่าวว่า “อาเซียนมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางชั้นนำด้านอุตสาหกรรมของเอเชียแปซิฟิก อย่างไรก็ดี จากการที่ประเทศในอาเซียนมีระดับพัฒนาการด้านเศรษฐกิจที่แตกต่างกันหลากหลายระดับ ดังนั้น บริษัทที่ต้องการเลือกประเทศในอาเซียนเป็นฐานการผลิต หรือนักลงทุนที่ต้องการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องในอาเซียน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละประเทศอย่างชัดเจน”