สกอตแลนด์...อีกต้นแบบของพลังานสะอาด

29 เม.ย. 2560 | 09:00 น.
สภาวะอากาศและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของสกอตแลนด์ เป็นปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญที่ส่งเสริมให้มีการนำพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม กระแสนํ้าขึ้นนํ้าลง หรือพลังงานคลื่นสมุทร มาผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการใช้เชื้อเพลิงจากปิโตรเลียมและถ่านหิน มีงานวิจัยล่าสุดที่สนับสนุนการวิจัยโดยกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ที่ชี้ว่า ภายใน 13 ปีข้างหน้าหรือในราวปี ค.ศ. 2030 สกอตแลนด์จะสามารถพลิกผันตัวเองกลายเป็นสังคมปลอดเชื้อเพลิงจากฟอสซิลได้อย่างสมบูรณ์แบบ (100% fossil fuel-free) ขณะที่ตัวเลขเป้าหมายของรัฐบาลยิ่งใกล้เข้ามามากกว่านั้น คือตั้งเป้าว่าภายในปี 2020 หรืออีกเพียง 3 ปีนับจากนี้สกอตแลนด์จะผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนถึง 100% ตอบสนองความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าทั้งหมดที่มีอยู่

นอกเหนือจากการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว สกอตแลนด์ยังมีตัวอย่างของโครงการที่นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้เพื่อประโยชน์ทางสาธารณกุศลอีกด้วย นั่นคือโครงการปลูกบ้านให้คนยากไร้ด้วยรายได้จากการขายกระแสไฟฟ้าของวินด์ฟาร์ม หรือ ฟาร์มกังหันลมแห่งหนึ่งที่เป็นของสมาคมเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไร

[caption id="attachment_143411" align="aligncenter" width="503"] สกอตแลนด์...อีกต้นแบบของพลังานสะอาด สกอตแลนด์...อีกต้นแบบของพลังานสะอาด[/caption]

สมาคมบ้านอาคารสงเคราะห์แห่งเมืองเบอร์วิคเชอร์ (บีเอชเอ) ร่วมกับองค์การพลังงานชุมชนแห่งสกอตแลนด์ (ซีอีเอส) จับมือกันทำโครงการดังกล่าว โดยวินด์ฟาร์มแห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองค็อกเบิร์นส์พาธ มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 7.5 เมกะวัตต์ บีเอชเอคาดหมายว่ารายได้จากการขายกระแสไฟฟ้าให้กับรัฐบาล จะช่วยให้สมาคมมีเงินทุนเพียงพอที่จะนำไปใช้ในการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรจำนวน500 หลังภายในระยะ 25 ปีข้างหน้า

ขณะเดียวกันในส่วนของซีอีเอส มีแผนจะนำส่วนแบ่งรายได้ไปใช้สนับสนุนการทำกิจกรรมช่วยเหลือครัวเรือนในสกอตแลนด์ให้หันมาใช้พลังงานทางเลือก ที่เป็นพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกันมากยิ่งขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,256 วันที่ 27 - 29 เมษายน พ.ศ. 2560