เชาวนนท์ คลังเปรมจิตต์ : ประสบการณ์สำคัญกว่าสิ่งที่เรียนรู้ในตำรา

28 เม.ย. 2560 | 12:00 น.
หลายๆ คนคงคุ้นๆ ชื่อเครื่องปรับอากาศแบรนด์ "มิตซุย" กันมาบ้าง แต่จะมีซักกี่คนที่รู้ว่า แบรนด์นี้เป็นแบรนด์คนไทย ที่ทำตลาดมากว่า 35 ปี โดยปัจจุบัน "เชาวนนท์ คลังเปรมจิตต์" ทายาทรุ่นที่ 2 ขึ้นมาทำหน้าที่บริหาร ในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามมิตซุย จำกัด และคนหนุ่มคนนี้ ยังบริหารอีกหนึ่งธุรกิจ ของการสอนภาษาอังกฤษออนไลน์ ที่เขาเห็นโอกาสและแนวโน้มที่ดีทางการตลาด กับ บริษัท อิงกู (ไทยแลนด์) จำกัด

"เชาวนนท์" ถูกวางตัวไว้แต่แรกให้เป็นผู้เข้ามาดูแลธุรกิจของครอบครัว หลังเรียนจบบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ พร้อมประสบการณ์ฝึกงานที่บริษัท ไดกิ้น ประเทศญี่ปุ่น เขาจึงกลับมาลุยธุรกิจที่บ้านเต็มตัว

แม้การเริ่มต้นจะไม่สนุกนัก ด้วยความที่เป็นคนรุ่นใหม่ อยากทำอะไรที่เท่ๆ ชิคๆ โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยีที่ตัวเองชื่นชอบ แต่เมื่อได้เข้ามาสัมผัสและบริหารงานอย่างเต็มตัว เขาก็พบว่า มันมีอะไรที่มากกว่างานช่างที่เขาเยอะแยะ และยังมีความท้าทายที่รออยู่ตรงหน้า ในการที่จะพัฒนาธุรกิจของครอบครัวให้เติบโต และสร้างแบรนด์ มิตซุย ให้เป็นที่ยอมรับของตลาดมากยิ่งขึ้น "เชาวนนท์" ได้นำประสบการณ์ที่เคยเรียนและฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่นมาใช้อย่างเต็มที่ ความรู้และคอนเน็คชั่นที่ได้มาในช่วงนั้น ทำให้เขาสามารถเชื่อมต่อสร้างให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจครอบครัวอย่างมาก เขานำเทคโนโลยีใหม่ๆ จากญี่ปุ่น มาใช้กับเครื่องปรับอากาศมิตซุย จนเป็นที่ยอมรับของตลาด โดยเฉพาะตลาดโปรเจคหรือโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ

การทำงานของ "เชาวนนท์" เขาเน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์ สิ่งที่ได้เห็นและคลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เขาเข้าใจธุรกิจได้เร็ว...ประสบการณ์สำคัญกว่าสิ่งที่เรียนรู้ในตำราแน่นอน แต่เราก็ต้องมีวิชาการเป็นพื้นฐาน เพื่อไม่ให้เดินผิดทางหรือเดินได้ช้าในบางอย่าง แต่บางอย่างก็ต้องใช้ประสบกาณณ์ล้วนๆ เพราะบางทีวิชาการไม่ได้ช่วยอะไรเลย แต่จริงๆ ก็ไม่ได้มีอะไรตายตัว มันขึ้นอยู่กับว่า คนๆ นั้นพร้อมที่จะเรียนรู้มากน้อยแค่ไหน และพัฒนาตัวเองได้มากแค่ไหน

ความลำบากในการบริหารงานของผู้ชายคนนี้ อยู่ที่เรื่องของคนมากกว่า เพราะธุรกิจครอบครัวที่มีคนรุ่นเก่าอยู่เยอะ การจะปรับเปลี่ยนอะไรตามแนวคิดของคนรุ่นใหม่ จะค่อนข้างยาก เขาจึงมองหาระบบมาตรฐาน เข้ามาสร้างธุรกิจครอบครัว "เชาวนนท์" นำระบบมาตรฐาน ISO เข้ามาใช้ นอกจากสร้างมาตรฐานในการผลิตให้เป็นที่ยอมรับแลัว ยังถือเป็นการจัดระบบระเบียบโครงสร้างการทำงานให้ได้มาตรฐานสากลอีกด้วย

เขายอมรับว่า การปรับเปลี่ยนระบบการทำงานภายในเป็นเรื่องยาก คนเก่งอีโก้เยอะ คนเก่าไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง แต่คนเก่ามีดีที่ประสบการณ์ ความจงรักภักดีต่อองค์กร และความซื่อสัตย์ ตรงนี้ทำให้เขาต้องยอมรับว่า ไม่อาจทิ้งคนเก่าได้ เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือการบาลานซ์ระหว่างคนเก่าและคนใหม่ จูนความคิดเข้าหากันผ่านระบบ

[caption id="attachment_143403" align="aligncenter" width="503"] เชาวนนท์ คลังเปรมจิตต์ เชาวนนท์ คลังเปรมจิตต์[/caption]

"ตอนนี้ยังไม่ลงตัว แต่ ISO ช่วยเราได้เยอะ ความลำบากคือ คนไทยไม่ได้ดูที่ผลลัพธ์ แต่ดูที่ความอาวุโส เราอยู่มานาน เราทำแบบนี้มาตั้ง 10-20 ปี แต่ไม่ได้ดูที่เนื้องานว่าออกมาแล้วมันดีแค่ไหน ขณะที่คนใหม่ก็จะมีอะไรใหม่ๆ เข้ามา ถ้าการทำงานแบบฝรั่ง เขาจะดูที่ Performance เราก็ต้องประสานทั้งคนรุ่นเก่าและใหม่ ต้องบาลานซ์กับงานที่ต้องเดินไปข้างหน้า คุยกันยากนิดหนึ่ง เราเลยเอาระบบเข้ามาคุย คุณต้องทำแบบนี้ เดินไปแบบนี้ ก็อาจต้องใช้เวลานิดหนึ่ง"

นอกจากการวางระบบ เพื่อพัฒนาหลังบ้านให้แข็งแกร่งแล้ว งานหน้าบ้าน เขาก็ดึงพาร์ทเนอร์เข้ามาช่วยเสริม ด้วยความคิดที่ว่า... ธุรกิจสมัยนี้ ทำอะไรต้องมีคอนเน็คชั่น มีพาร์ทเนอร์ คนๆ เดียวไม่สามารถเก่งทุกอย่าง ซึ่งถ้าเรามีพาร์ทเนอร์ที่ดี ก็จะทำให้ธุรกิจเราแข็งแรง และต่อยอดได้มากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้สิ่งที่เขาทำ คือ การจับมือกับพาร์ทเนอร์ร่วมกันผลักดันยอดขาย ด้วยเป้าที่ต้องการบุกตลาดคอนซูเมอร์อย่างจริงจังในปีนี้ เขาจึงจับมือกับ ทั้ง เคทีซี และแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าอัลทรอน เพื่อตอบโจทย์ของผู้บริโภคให้มากที่สุด และผลักดันยอดขายให้เติบโตขึ้นอีก 50% จากเดิมที่เติมโตประมาณ 10-20%

ฝันของผู้บริหารรุ่นใหม่คนนี้ คือ การสร้างแบรนด์มิตซุยให้เป็นแบรนด์ที่สามารถต่อยอดไปสู่สินค้าอื่นๆ ได้อีก เช่นเดียวแบรนด์ดังอย่างซัมซุง ที่มีโปรดักส์มากมาย ซึ่งนั่นคือการต่อยอดจากเรื่องของเทคโนโลยีที่เขาชื่นชอบ ขณะเดียวกัน ด้านเครื่องปรับอากาศ หรือการทำธุรกิจ เขายังมีแบรนด์ ไดกิ้น เป็นตัวอย่างที่ดี ทั้งการบริหารจัดการระบบ การสร้างทีมงาน และการพัฒนาสินค้า

นับจากวันที่ "เชาวนนท์" เข้ามาบริหารธุรกิจแบบไม่ค่อยปลื้มนัก จนถึงวันนี้ เขาลุยเต็มที่ พร้อมตั้งเป้าหมายทั้งขยายช่องทางจัดจำหน่าย และการเพิ่มยอดขายให้ได้ตามเป้า 50% และเตรียมที่จะทำอะไรใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมาย ตามจังหวะและโอกาสที่อำนวย ทั้งหมดก็เพื่อการสร้างให้แบรนด์ "มิตซุย" แบรนด์เครื่องปรับอากาศของคนไทยให้ เป็นที่ยอมรับของตลาดนั่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,256 วันที่ 27 - 29 เมษายน พ.ศ. 2560