บริหารธุรกิจการเงินสไตล์"บรรณรงค์ พิชญากร"

29 เม.ย. 2560 | 02:00 น.
จากจุดเริ่มต้น ของการก้าวเข้าสู่ธุรกิจการเงิน จนเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้บริหารธุรกิจค้าหลักทรัพย์ ในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ กิจการค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ของ "บรรณรงค์ พิชญากร" เขาบอกว่า เริ่มต้นจากแรงบันดาลใจ

"ผมจบจากธรรมศาสตร์ อยู่คณะเศรษฐศาสตร์ ก็ไม่รู้เรื่องหุ้น ตอนเรียน คณะฯ มีการตั้งตลาดหลักทรัพย์จำลอง ผมเลยเข้าไปลองดู จากจุดนั้น ได้เป็นจุดเริ่มต้นสร้างแรงบันดาลใจให้กับผม ทำให้ผมสนใจวิชาชีพทางด้านนี้"

จากจุดนั้น ทำให้ "บรรณรงค์" ได้เลือกเส้นทางวิชาชีพของตัวเองอย่างชัดเจนตั้งแต่นั้นมา เขามีประสบการณ์ทำงานในธุรกิจการค้าหลักทรัพย์กับ เครือปูนซิเมนต์ไทย เงินทุนหลักทรัพย์ TISCO บริษัทหลักทรัพย์ เจเอฟธนาคม บริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน) และท้ายสุด คือ ที่หลักทรัพย์บัวหลวง

การก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งผู้บริหาร ที่ทำหน้าที่บริหารธุรกิจค้าหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ความกดดันเยอะ ต้องยุ่งเกี่ยวกับการเงิน การวิเคราะห์ และการวางแผน หลายๆ คนมองว่า มันเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก วุ่นวาย แล้วแบบนี้ ผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่บริหารธุรกิจ จะต้องมีคุณสมบัติพิเศษอะไรหรือเปล่า จึงจะสามารถบริหารธุรกิจให้เจริญก้าวหน้า และทำให้บริษัทได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าเป็นอย่างดี

เรื่องนี้ "บรรณรงค์" ตอบง่ายๆ สั้นเลยว่า ทักษะสำคัญ คือ "ความสนใจ" ถ้าสนใจก่อน ทุกอย่างก็ฝึกได้หมด และถ้ายิ่งเรียนมาตรงสาขา ก็ยิ่งดี

"คีย์หลักของผู้บริหาร ก็คือความสนใจ ผมรับพนักงานมา ผมจะดูก่อนว่า เขาสนใจเรื่องอะไร เรื่องทัศนคติ เป็นเรื่องสำคัญสุด เรื่องของความสามารถ ทักษะ บางครั้งมันฝึกกันได้ ถ้าใจจะสู้จริง เพราะต่อให้รู้ตรง แต่ไม่สนใจ ก็ไม่มีประโยชน์ โอเค มันอาจจะทำได้จุดหนึ่ง แต่ถ้าเขาไม่สนใจ ก็พัฒนาต่อไม่ได้ สำหรับคนที่สนใจ ถ้าแค่สนใจ แต่ไม่พัฒนาตัวเอง ถึงจุดหนึ่งก็ตันเหมือนกัน ทุกคนในองค์กร ก็ต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง เราจะพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ สุดท้ายประโยชน์ก็จะตกอยู่ที่ตัวเราเอง"

"บรรณรงค์" เข้ามาทำหน้าที่บริหารหลักทรัพย์บัวหลวงประมาณ 5-6 ปี ตลอดระยะเวลาที่เขาทำหน้าที่ หลักทรัพย์บัวหลวงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของนักลงทุนบุคคล ที่เขามีเป้าในการขยายฐานนักลงทุนเหล่านี้ให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากเมื่อ 6 ปีก่อน มีฐานนักลงทุนบุคคลอยู่ประมาณ 2 หมื่นกว่าราย ปัจจุบัน ตัวเลขฐานนักลงทุนบุคคลของหลักทรัพย์บัวหลวงขยายไปกว่า 2.4 แสนราย และเขายังมีแผนที่จะขยายตรงนี้ให้เติบโตเพิ่มขึ้นอีก ด้วยการให้ความรู้กับบุคลทั่วไปแบบง่ายๆ เข้าใจไม่ยาก

ผู้บริหารท่านนี้ยอมรับว่า ตลาดนี้มีการแข่งขันสูง แต่การที่คนจะเข้ามาใช้บริการของหลักทรัพย์บัวหลวง มันขึ้นอยู่ที่โปรดักส์และบริการ ทั้งบริการจากคน และงานระบบ เทคโนโลยี เขามองว่าที่การแข่งขันสูงเช่นทุกวันนี้ เป็นเพราะว่าเราไปแข่งในเรื่องเดียวกัน ถ้าบอกว่า เอาปริมาณการซื้อขายเป็นตัวชี้วัด คนทำธุรกิจก็จะมุ่งแต่ไปสร้างปริมาณการซื้อขาย เพื่อจะได้ค่าคอมมิทชั่น ซึ่งนั่นไม่ใช่เป้าหมายของหลักทรัพย์บัวหลวง เป้าหมายของเขาคือ ขยายการบริการให้ครอบคลุมลูกค้า การลงทุนเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย

ผู้บริหารท่านนี้ กำลังปรับแนวคิดของทีมงาน เอาลูกค้ามาอยู่ในใจเรา และเราก็จะไปอยู่ในใจลูกค้า และผู้บริโภค เขาพยายามสร้างแหล่งให้ข้อมูลความรู้กับผู้บริโภค จัดตั้งศูนย์ Investment Station มาแล้ว ที่ตึกซิลลิค เฮ้าส์ ถ.สีลม และยังจับมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดศูนย์การเรียนรู้การลงทุนครบวงจร "Investment Space by Bualuang Securities" ที่ชั้น 1 อาคารศูนย์การเรียนรู้กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อีกหนึ่งแห่ง นอกจากนี้ ยังทำเวปไซด์หลักทรัพย์บัวหลวง ให้ทีมงานเข้าไปเขียนให้ความรู้กับคนทั่วไปด้วยภาษาง่ายๆ

ไอเดียการให้ความรู้แบบง่ายๆ เข้าใจได้ไม่ยากนี้ "บรรณรงค์"เปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจนว่า..."ผมคิดง่ายๆ ถ้าขายรถ ก็ต้องสอนให้คนขับรถเป็น และขับรถได้ดี เขาก็จะมาซื้อรถจากเรา"...เรียกว่า เป็นไอเดียที่คิดจากพื้นฐานของคนเรา หากจริงใจต่อกัน ก็ต้องสอนให้เขารู้จักและใช้เป็นอย่างปลอดภัย ก็เช่นเดียวกับหลักทรัพย์ แน่นอน การลงทุนมีความเสี่ยง แต่จะเสี่ยงอย่างไร ให้เสี่ยงน้อยที่สุด นั่นก็คือต้องมีความรู้

นี่คือหลักคิดง่ายๆ แต่จริงใจ กับการบริหารธุรกิจที่เกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ในกระเป๋าลูกค้า ของ "บรรณรงค์ พิชญากร"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,256 วันที่ 27 - 29 เมษายน พ.ศ. 2560