รัฐบูม‘ท่องเที่ยวเชิงอาหาร’ ททท.ผนึกมิชลินดันไทยฮับวิทยาการอาหารโลก

29 เม.ย. 2560 | 02:00 น.
ไทยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ททท.ผนึก มิชลินสตาร์ ยกระดับอาหารไทยสู่มาตรฐานสากล ทั้งจัดงาน “แบงค็อก สตรีท ฟู้ด เฟสติวัล” รมต.ท่องเที่ยวฯ ลุยเสนอตัวไทยเจ้าภาพ “UNWTO World Forum on Gastronomy Tourism” ดันไทยฮับวิทยาการอาหารของโลก

ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีนโยบายและทิศทางที่ชัดเจน ถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร(Gastronomy Tourism) รวมถึงครม.ยังได้อนุมัติให้ไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน UNWTO World Forum on Gastronomy Tourism ครั้งที่ 4 ในปี 2561

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่าโครงการที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางด้านอาหารเป็นส่วนสำคัญของการสร้างประสบการณ์ด้านท่องเที่ยว และเรามองเห็นโอกาสในการดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดบนที่มีความสนใจด้านอาหารให้เดินทางมาประเทศ ดังนั้นเราจึงได้ร่วมมือกับทางมิชลิน จัดทำคู่มือแนะนำร้านอาหารและที่พัก “มิชลินไกด์” ฉบับกรุงเทพฯขึ้น

สำหรับงบประมาณสำหรับโครงการจัดทำคู่มือ “มิชลิน ไกด์”ฉบับกรุงเทพฯ ททท. จะนำงบประมาณไปใช้ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ทั้งในและต่างประเทศตลอดจนทำงานร่วมกับมิชลิน ในชว่ งระยะเวลา 5 ป ี รวมกว่า 144.5 ล้านบาท โดยปีแรกใช้งบประมาณ 31.7 ล้านบาทและอีก 4 ปีที่เหลือจะใช้งบประมาณ 28.2 ล้านบาทต่อปีทั้งนี้ในกลุ่มประเทศอาเซียน มีเพียงประเทศสิงคโปร์เท่านั้นที่ทำงานร่วมกับมิชลิน สตาร์ และไทยเป็นประเทศที่ 2 ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ซึ่งในอนาคตหากเข้ามาทำตลาดร่วมกันอย่างจริงจัง ไทยจะสามารถส่งเสริมการตลาดทัวร์ท่องเที่ยวชิมอาหารแบบในหลายๆ ประเทศได้

ทั้งนี้คู่มือมิชลิน ไกด์ ฉบับกรุงเทพฯ ประจำปี 2561 จะเปิดตัวภายในเดือนธันวาคม 2560 มีเนื้อหา 2 ภาษา ไทยและอังกฤษซึ่งจะมีทั้งฉบับที่เป็นเล่มและแบบดิจิตอล จากนั้นมีกำหนดจัดพิมพ์ใหม่ทุกปีตลอดระยะเวลา 5 ปีเบื้องต้นจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับร้านอาหารในกรุงเทพฯเท่านั้น แต่มีแนวคิดที่จะขยายการตรวจประเมินร้านอาหารไปยังเมืองใหญ่อื่นๆของไทยในอีก 2-3 ปีนี้

“การนำมิชลิน สตาร์ เข้ามาช่วยทำตลาดเรื่องอาหารในไทย ถือเปน็ หนึ่งในนโยบายผลักดันเรื่องการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวของไทย เพราะปัจจุบันสัดส่วนการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว ก็เป็นจากอาหารถึง 60% และในการทำโครงการครั้งนี้ ก็ไม่ได้เน้นแค่เพียงร้านอาหารชื่อดังเท่านั้น แต่ยังมีร้านอาหารทั่วไป ที่มีมาตรฐานรสชาติดี เจ้าเก่าแก่ และการเข้ามาประเมินแต่ละร้านจะเป็นการเลือกจากมิชลินเอง ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการยกระดับมาตรฐานร้านอาหารของตนเองขึ้นมา หากอยากจะเข้ามิชลิน สตาร์”

มิชลิน สตาร์ จะมี 3 ระดับระดับดาวมิชลิน 1 ดวง (Very Good Cuisine) ดาวมิชลิน 2 ดาว(Excellent Cuisine Worth a Detour) และระดับที่สูงสุด คือดาวมิชลิน 3 ดวง ( Exceptional Cuisine Worth a Special Journey)

นอกจากนี้ททท.ยังเตรียมจะร่วมมือกับทางกรุงเทพมหานครจัดงาน “แบงค็อก สตรีท ฟู้ดเฟสติวัล” ในเดือนมิถุนายนนี้เพื่อเพิ่มความมั่นใจว่าภาครัฐส่งเสริมอาหารข้างทาง

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยว่าเพื่อเป็นการส่งเสริม การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้านอาหารไทย ไม่เพียงแต่ครม. จะสนับสนุนงบ สำหรับโครงการ The Michelin Guide Thailand ระยะเวลา5 ปีงบประมาณเท่านั้น ครม.มีมติอนุมัติให้ไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน “UNWTO World Forum on Gastronomy Tourism” ครั้งที่ 4 ในปี 2561 โดยเล็งเห็นว่ามีประโยชน์หลายด้านที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ นั่นคือ โอกาสในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

รวมถึงการใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและมีประโยชน์ทางโภชนาการ เช่น สมุนไพรต่างๆตลอดจนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร รวมถึงสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการนำรายได้เข้าสู่ประเทศไทย ในรูปแบบธุรกิจอื่นๆเช่น อาหาร โรงแรม ต่อไปด้วย

“อาหารไทยเป็นเสน่ห์สำคัญที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้อยากมาเที่ยวไทยเครื่องเทศและการปรุงรสที่เข้มข้นทำให้เมนูอาหารไทยมีความกลมกล่อมหอมลงตัวอย่างพอดีทั้งต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน หรือผัดไทย ต่างก็ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็น Gastronomy Hub หรือ ศูนย์กลางด้านวิทยาการอาหารของโลก” นางกอบกาญจน์กล่าวทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,256 วันที่ 27 - 29 เมษายน พ.ศ. 2560