รัฐคุมสื่อออนไลน์ป้องผูกขาด

27 เม.ย. 2560 | 05:00 น.
“กสทช.” ตั้งคณะอนุกรรมการ OTT TV หวังคุมเข้มแพร่ภาพผ่านโครงข่ายอื่น นอกจากโครงข่ายบรอดแคสต์แบบเดิม ขณะที่กรมสรรพากร ผลักดันออกกฎหมายจัดเก็บภาษีออนไลน์พุ่งเป้า เฟซบุ๊ก-ไลน์-ยูทูบ หลังการซื่อขายสินค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซ เติบโตอย่างต่อเนื่อง

พ.อ.ดร. นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช.(คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) และในฐานะประธาน กสท.(คณะ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ) ได้แถลงผลการประชุมบอร์ด กสทช.ในวาระพิเศษ เพื่อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ การแพร่ภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอื่นที่นอกเหนือไปจากโครงข่ายที่ให้บริการเกี่ยวกับการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ OTT (Over The Top) TV โดยมีประธานคณะอนุกรรม คือ พ.อ.ดร. นที ศุกลรัตน์ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการให้ข้อเสนอแนะข้อพิจารณากลั่นกรอง เกี่ยวกับหลักการต่างๆ ของ OTT TV ต่อ กสท. หรือ กสทช.

เบื้องต้นคาดว่าทางคณะอนุกรรมการจะประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 10 ท่านโดยมีบุคคลภายนอกและภายในที่มีความเชี่ยวชาญในหลายๆด้าน แต่ละท่านจำเป็นที่จะต้องมีความคิดเห็นที่สอดคล้องกันในกรอบที่ยอมรับได้ ซึ่งจะมีวาระ1 ปี แนวทางการทำงานคือเป็นการหารือกันเพื่อหาคำตอบว่าในความคิดเห็นของแต่ละคน OTT นั้นหมายถึงอะไร เพื่อหาคำจำกัดความของ OTT ซึ่งเป็นเรื่องของสื่อสารมวลชนที่ต้องการส่งข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนส่วนมากที่เข้าลักษณะกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

พ.อ.ดร.นที กล่าวว่า เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความเป็นธรรมในอุตสาหกรรมนี้เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมีคุณภาพและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนที่มีสิทธิเสรีภาพในการรับข้อมูลข่าวสาร แต่ในขณะเดียวกันการประกอบกิจการต่างๆต้องดำรงอยู่ในความเป็นธรรมผู้ประกอบการยังคงดำเนินกิจการไปได้ในสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป สำหรับตอนนี้ยังสามารถทำไปได้อยู่เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดกฎกติกาขึ้น

ปัจจัยที่ต้องการนำเข้าสู่ระบบใบอนุญาตหากกำกับดูแลอย่างรวดเร็วปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ก็จะไม่เกิด ซึ่งในตอนนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีผลกระทบบ้างในบางส่วนจึงต้องมีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกัน เพราะปัญหาดังกล่าวนั้นจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้อุตสาหกรรมเดินหน้าต่อไป จึงทำให้ กสทช. จำเป็นที่จะต้องเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม เรื่องของ OTT เป็นเรื่องใหม่ที่หลายฝ่ายสนใจ ส่วนการประชุมวาระพิเศษครั้งนี้ยังไม่ได้เริ่มต้นกระบวนการพิจารณารายละเอียดใดๆ และจะมีการนัดหมาย เพื่อตอบข้อซักถามและชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับ OTT ในช่วงเช้าวันศุกร์นี้

ส่วนด้านกรมสรรพากรอยู่ระหว่างพิจารณาร่างกฎหมายโดยเฉพาะการแก้ไขประมวลรัษฎากรหรือร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ที่เน้นจัดเก็บภาษีในธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในรัฐบาลปัจจุบัน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้เพื่อจัดเก็บภาษี เฟซบุ๊ก,กูเกิล, ไลน์ และยูทูบ ที่มีการเปิดเป็นเครือข่ายเพื่อขายสินค้าออนไลน์หรือทำรายได้จากการคลิกชมโฆษณาเนื่องจากในปี 2559 ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในไทย มีมูลค่าการค้าอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาทเติบโตสูงถึง 10% จากปี 2558ที่มีมูลค่าการค้าอยู่ที่ 2.1ล้านล้านบาทส่วนปี 2560 นี้น่าจะขยายตัวสูงถึง 10%มูลค่าการค้ารวมกว่า 3 ล้านล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,256 วันที่ 27 - 29 เมษายน พ.ศ. 2560