ผู้ผลิตก๊าซแอลพีจีแห่ส่งออกนโยบายนำเข้าเสรีทำล้น-โรงกลั่นไม่มีคลังเก็บ

28 เม.ย. 2560 | 04:00 น.
กลุ่มโรงกลั่นนํ้ามัน แห่ส่งออกแอลพีจี หลังรับผลกระทบจากมาตรการนำเข้าเสรี ชี้มีคลังเก็บจำกัดจำเป็นต้องส่งออก ขณะที่ราคายังไม่จูงใจแถมต้องส่งเงินเข้ากองทุน ด้านกรมธุรกิจพลังงานเผย ช่วงแรกส่งออกปริมาณน้อย 1-2 หมื่นตัน เน้นขายในประเทศก่อน

จากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อเดือนวันที่ 8 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมามีมติเปิดเสรีธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) โดยให้ยกเลิกระบบโควต้าการนำเข้าและสามารถส่งออกเนื้อก๊าซแอลพีจีที่ผลิตในประเทศได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) โดยจะพิจารณาอนุญาตเฉพาะผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่เป็นผู้ผลิตก๊าซแอลพีจี ในประเทศให้สามารถส่งออกได้ในกรณีที่มีก๊าซแอลพีจีเกินกว่าความต้องการใช้ภายในประเทศ และให้ผู้ส่งออกมีหน้าที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนแอลพีจีฯ ถือเป็นการปลดล็อกห้ามการส่งออกก๊าซแอลพจีตั้งแต่ปี 2552 เปนต้นมาก็ว่าได้

โดยล่าสุดทางกรมธุรกิจพลังงานแจ้งว่าได้อนุญาตให้โรงกลั่นน้ำมันฯ ส่งออกแอลพีจีตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ปริมาณ 1-2 หมื่นตันแล้ว

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันฯซึ่งเป็นผู้ผลิตแอลพีจี ขออนุญาตส่งออกแอลพีจี 1-2 หมื่นตัน โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากนโยบายการเปิดนำเข้าแอลพีจีเสรี เนื่องจากมีการแข่งขันมากขึ้น ประกอบกับเมื่อโรงกลั่นฯผลิตแอลพีจีออกมาจำนวนมาก เมื่อไม่มีคลังเก็บก็จำเป็นต้องส่งออก แต่ถือว่ายังเป็นปริมาณไม่มากนัก ซึ่งอนุญาตส่งออกเป็นรายครั้ง ครั้งละประมาณ 1-2 หมื่นตัน เพราะยังขายในประเทศเป็นหลัก

โดยที่ผ่านมามติ กพช. มีกฎหมายเปิดสำหรับผู้ผลิตแอลพีจีที่ต้องการส่งออกอยู่แล้ว ซึ่งมีการกำหนดราคาส่งออกไว้อย่างชัดเจนว่า หากราคาส่งออกมีส่วนเกินจากราคาตลาดโลก(CP+X) ทางโรงกลั่นจะต้องส่งราคาส่วนเกินเข้ากองทุนแอลพีจีตามอัตราที่กำหนด โดยมอบหมายให้ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เป็นผู้ออกประกาศอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ

อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าตามมาตรา 7ได้นำเข้าแอลพีจีล็อตแรกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ค้าและผู้ผลิตต้องปรับตัว โดยส่วนใหญ่จะเป็นคู่ค้ากันอยู่แล้ว จึงมีแอลพีจีที่ผลิตได้ในประเทศเหลือส่งออกไม่มากนัก อีกทั้ง ราคาส่งออกกำหนดเป็นราคาซีพี ส่วนเกินที่ขายได้ต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯ จึงไม่มีความจูงใจมากนัก

"ขณะนี้มีโรงกลั่นน้ำมันฯขออนุญาตส่งออกแอลพีจี กรมฯได้อนุญาตไปแล้ว ซึ่งมีปริมาณไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่มีลูกค้าในประเทศอยู่แล้ว ซึ่งคงไม่ใช่ผลกระทบทั้งหมดมาจากนโยบายนำเข้าแอลพีจีเสรี แต่เป็นเพราะมีการแข่งขันมากขึ้น ดังนั้น ต้องปรับตัว ส่วนในช่วงที่เหลือของปีนี้จะมีปริมาณส่งออกแอลพีจีเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะเพิ่งนำเข้าแอลพีจีเสรีล็อตเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้นำเข้า 3 ราย ได้แก้ ปตท. ยูนิคแก๊ส และสยามแก๊ส รวมกว่า 6 หมื่นตัน"นายวิฑูรย์ กล่าว

นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันฯที่ผลิตแอลพีจี ได้รับผลกระทบหลังจากกระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมนำเข้าแอลพีจีเสรี เนื่องจากมีลูกค้าบางส่วนที่นำเข้าแอลพีจีเอง จึงไม่ได้ซื้อแอลพีจากผู้ผลิตในประเทศ ดังนั้น จึงมีก๊าซแอลพีจีส่วนหนึ่งที่เหลือ เพราะคลังที่เก็บมีปริมาณจำกัด รวมทั้งปริมาณสำรองแอลพีจีตามกฎหมาย อยู่ที่ 1% หรือคิดเป็น 3.6 วันเท่านั้น ผู้ผลิตแลอพีจีจึงจำเป็นต้องนำแอลพีจีส่วนเกินส่งออกไปต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มโรงกลั่น จะหารือกับทาง สนพ.เกีย่ วกับสถานการณ์ส่งออกแอลพีจี เนื่องจากรัฐยังกำหนดราคาส่งออกเป็นราคา CP ขณะที่ส่วนเกินจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนซึ่งพบว่ามีโรงกลั่น 2 แห่งทยอยส่งออกบ้างแล้ว ในส่วนของโรงกลั่นไออาร์พีซียังไม่ได้ส่งออกเนื่องจากผลิตแอลพีจีในปริมาณที่น้อย

"ยอมรับว่านโยบายนำเข้าแอลพีจีกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ เพราะลูกค้านำเข้าเอง ต้องนำเข้าคาโก้ใหญ่ จึงไม่ได้ซื้อจากผู้ผลิตในประเทศ ขณะเดียวกันคลังก็มีที่เก็บจำกัด ดังนั้นผู้ผลิตจึงต้องส่งออกแอลพีจีส่วนเกิน"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,256 วันที่ 27 - 29 เมษายน พ.ศ. 2560