ป.ป.ช.จบคดีจำนำข้าว เป้าท้าทายปีนี้ 6,000 คดี

27 เม.ย. 2560 | 07:00 น.
ในอดีต และปัจจุบันประเทศไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นในบ้านเมืองมากมาย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เป็นหน่วยงานสำคัญที่ถูกสังคมจับตามองและถูกคาดหวังมากเป็นพิเศษ จากเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน เพื่อไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนส่งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ

ที่ผ่านมา คดีที่ ป.ป.ช.ดำเนินการ มักเป็นคดีใหญ่ๆ เกี่ยวข้องกับนักการเมืองระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นคดีจำนำข้าว คดีรับสินบนข้ามชาติ และคดีอื่นๆ ซึ่งพอจบเรื่องหนึ่งก็จะมีเรื่องใหม่ ๆ ให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบไม่มีวันสิ้นสุด "ฐานเศรษฐกิจ" ฉบับนี้ มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ "สรรเสริญ พลเจียก" เลขาธิการ ป.ป.ช. ถึงทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายการป้องกันและการปราบปรามทุจริตในช่วง 1-2 ปีนับจากนี้

 ย้อนรอยคดีจำนำข้าว

"สรรเสริญ" กล่าวว่า การทำงานของ ป.ป.ช. ในส่วนของคดีรับจำนำข้าว ที่หลายฝ่ายมองว่า ป.ป.ช.สามารถเปิดไต่สวนและยื่นอัยการส่งฟ้องศาลได้เร็ว และตั้งคำถามเมื่อเทียบกับคดีอื่นๆ ทำไมถึงช้าเรื่องนี้อยู่ที่คนมอง แต่ในหลักการเรื่องการไต่สวน ขั้นตอนขบวนการจะเหมือนกันทุกคดี ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน ซึ่งในเวลานี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่มี พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธานกรรมการได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนให้คณะไต่สวนทำงานในชุดต่างๆ จัดลำดับความสำคัญของเรื่อง โดยเน้นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ ซึ่งจะระดมสรรพกำลังกันเพื่อให้รวดเร็วขึ้น

ที่ผ่านมาทาง ป.ป.ช.ได้ไปชี้แจงที่รัฐสภาหลายครั้ง หลายท่านก็เน้นย้ำว่า ให้ ป.ป.ช. ควรมุ่งเน้นคดีที่สำคัญ จะได้เห็นผลด้วยความรวดเร็ว และเกิดความเกรงกลัวของผู้กระทำความผิด สิ่งเหล่านี้จึงกลายมาเป็นแนวนโยบาย จึงเป็นที่มาที่หลายคนสงสัยว่าทำไมคดีนี้ถึงเร็ว คดีนี้ถึงช้า

"จำนำข้าว นับว่าเป็นคดีที่ใหญ่สุดใน ป.ป.ช.และมีคนเกี่ยวข้องจำนวนมากที่สุด ใช้ระยะเวลา 2 ปีก่อนส่งฟ้องศาล ล่าสุดทราบข่าวว่าขบวนการของศาลใกล้จะตัดสินแล้ว ซึ่งหน้าที่ของ ป.ป.ช.ได้สิ้นสุดลงนับตั้งแต่ส่งเรื่องให้อัยการ"

 ย้ำไม่มีการเมืองแทรก

"สรรเสริญ" กล่าวอีกว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ไม่เคยมีเรื่องหนักใจในกรณีผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นนักการเมืองไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติก็ตาม เพราะ 1.ป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระ อำนาจนักการเมืองที่เข้ามาเป็นฝ่ายบริหารหรือเป็นรัฐบาลไม่สามารถที่จะมาก้าวก่ายการทำงานของ ป.ป.ช.ได้เลย ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมี และไม่กล้าเข้ามาด้วย

2. ป.ป.ช.ไม่ใช่ผู้จับผิด แต่หลักของ ป.ป.ช.คือให้ความเป็นธรรม เมื่อมีการกล่าวหาหรือร้องเรียน จะไม่ตั้งธงว่าคนถูกร้องเรียนจะต้องเป็นคนผิด แต่ ป.ป.ช.จะแสวงหาข้อมูลและไต่สวนข้อเท็จจริงในเบื้องต้นเสียก่อน จากนั้นจึงจะแจ้งคำสั่งและแจ้งข้อกล่าวหานั้นให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาได้รับทราบ หรือให้คัดค้าน หรือต่อสู้คดีได้เต็มที่ จะเอาทนาย หรืออ้างพยานก็ได้ เพราะฉะนั้นสิทธิของผู้ถูกกล่าวหากับสิทธิฝ่ายกล่าวหาเท่าเทียมกัน

"ป.ป.ช.จะนำหลักฐานของทั้ง 2 ฝ่ายมาชั่งน้ำหนัก จะทำหน้าที่คล้ายศาลเบื้องต้น เพราะอย่าลืมว่าสำนวนของ ป.ป.ช.เมื่อส่งศาล ศาลก็จะเอาสำนวนของ ป.ป.ช.เป็นหลัก ยกเว้นศาลจะข้องใจจะเรียกผู้ถูกกล่าวหา พยาน หรือผู้ร้องเรียน มาให้ชี้แจงเพิ่มเติม ดังนั้นหลายคดีที่ล่าช้าเพราะต้องให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย อย่างคดีใหญ่ ผู้ถูกกล่าวหาอ้างพยานเป็น 10 คนหรือ 100 คน ดังนั้นจำนวน 100 คนต้องพิจารณาว่า เป็นการประวิงเวลาหรือไม่ ถ้าพิจารณาแล้วว่าไม่ประวิงเวลา 100 คนก็ต้องไต่สวนทั้งหมด"

 พอใจผลงาน 6 เดือน

เลขาฯ ป.ป.ช. กล่าวว่า สำหรับผลงานของ ป.ป.ช.ในรอบ 6 เดือน(ต.ค.59-มี.ค.60) แม้ว่าจะพึงพอใจ แต่ยังไม่ถึง 100% เพราะมีเป้าหมายที่ได้รับงบประมาณ ในปี 2560 ได้รายงานต่อรัฐสภาว่า จะทำคดีให้แล้วเสร็จ 4,600 เรื่อง แต่มีทาง ป.ป.ช.มีเป้าท้าทายว่าจะต้องทำให้ได้ใน 6,000 เรื่อง ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรก สามารถแสวงหาข้อเท็จจริงเสร็จแล้ว 3,335 เรื่อง ดังนั้นจะต้องมาดูว่าใน 6 เดือนหลังนับจากนี้จะทำสำเร็จหรือไม่ ซึ่งการจะทำสำเร็จหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ ต้องคำนึงถึงปริมาณและคุณภาพควบคู่กันไป ไม่ใช่เลือกทำแต่คดีง่ายๆ เพียงอย่างเดียว

ปัจจุบันสถานการณ์ปริมาณคดี ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 มีปริมาณคดีที่สะสมอยู่ใน ป.ป.ช.ทั้งหมด 1.47 หมื่นเรื่อง แบ่งเป็นแสวงหาข้อเท็จจริง 1.21 หมื่นเรื่อง และไต่สวนข้อเท็จจริง 2,557 เรื่อง จำแนกเป็น อนุกรรมการไต่สวน 1,634 เรื่อง องค์คณะพนักงานไต่สวน 896 เรื่อง และอยู่ในคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำลังพิจารณาอยู่ 27 เรื่อง

"ยกตัวอย่างคดีสินบนข้ามชาติ ท่านประธานป.ป.ช.ได้มีนโยบายที่จะเร่งรัดคดีเหล่านี้ เนื่องจากกระทบกับความมั่นคงของประเทศ กระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล และการลงทุน จึงมีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจที่จะดูแลเรื่องสินบนข้ามชาติของ ป.ป.ช. ก็จะมีทั้งอัยการ ต่างประเทศ ป.ป.ง. และสตง. เรื่องสินบนข้ามชาติ อาจจะไต่สวนแล้วไม่ค่อยคืบหน้าเพราะพยานหลักฐานอยู่ต่างประเทศ บางเรื่องก็ได้ง่าย บางเรื่องก็ได้ยาก ถือเป็นปัจจัยนอกเหนือที่ไม่สามารถควบคุมระยะเวลาทำงานได้"

 จนท.รัฐต้องโชว์ทรัพย์สิน

"สรรเสริญ" กล่าวอีกว่า ทาง ป.ป.ช. จะทำโครงสร้างใหม่ภายในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยจะตั้งคณะอนุไต่สวนเพิ่ม 2 คณะ ได้แก่คณะไต่สวนเรื่องร่ำรวยผิดปกติ และคณะทรัพยากรป่าไม้ จะต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้สามารถเฉพาะด้าน จำนวน 200 คน

“ในเร็วๆ นี้ จะมีการกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน อาทิ เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรกรมสรรพากร ปลัดกระทรวงตำรวจ ทหาร และรองอธิการบดีในมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นต้นเพราะมีตำแหน่งที่ล่อแหลมจะไปแสวงหาประโยชน์ ไม่ใช่เป็นการจับผิดแต่เป็นเรื่องของมาตรการในการสร้างความโปร่งใส”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,256 วันที่ 27 - 29 เมษายน พ.ศ. 2560