พาณิชย์เผยญี่ปุ่นตัดสิทธิ GSP กระทบไทยน้อยมาก

25 เม.ย. 2560 | 03:30 น.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวสร้างความตระหนกให้แก่ผู้ประกอบการไทยเรื่องญี่ปุ่นตัดสิทธิ GSP ประเทศไทย จะกระทบต่อการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นนั้นเป็นเรื่องที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่บางส่วน เนื่องจากขณะนี้ เราส่งออกไปญี่ปุ่นภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และอาเซียนญี่ปุ่น (AJCEP) ซึ่งเปิดการค้าเสรีระหว่างกันประมาณ 10 ปีมาแล้ว ครอบคลุมสินค้ากว่า 6,000 รายการ การส่งออกสินค้าไทยที่ส่งไปญี่ปุ่นซึ่งใช้สิทธิลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีภายใต้กรอบความตกลง   เขตการค้าเสรี JTEPA และอาเซียน-ญี่ปุ่นมีมูลค่ากว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ขณะที่ส่งออกภายใต้สิทธิ GSP มีการใช้สิทธิเพียง 14 รายการมูลค่าประมาณ 17 ล้านเหรียญสหรัฐ สาเหตุที่มีการใช้สิทธิ GSP น้อยเพราะผู้ส่งออกหันไปใช้สิทธิพิเศษในเขตการค้าเสรี JTEPA และอาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งลดภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า GSP ดังนั้นหากญี่ปุ่น ตัดสิทธิ GSP ไทยก็จะมีสินค้าเพียง 6 รายการเท่านั้นที่จะได้ลดผลกระทบ ได้แก่ ซอร์บิทอล กาแฟคั่วที่แยกคาเฟอีนออกแล้ว เอทิลแอลกอฮอล์ที่ไม่ได้แปรสภาพอื่นๆ ไม้พลายวู๊ดอื่นๆ ไม้ลามิเนต และไม้บล็อกบอร์ด ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับการทยอยลดภาษีภายใต้กรอบความตกลง JTEPA และอาเซียน-ญี่ปุ่น จนมีสิทธิพิเศษเท่ากับที่เคยได้รับสิทธิ GSP-ญี่ปุ่น คงเหลือแต่สินค้าซอร์บิทอลเท่านั้นที่ไม่ได้อยู่ในกรอบ JTEPA และอาเซียน-ญี่ปุ่น

การใช้สิทธิ GSP เป็นโครงการที่ประเทศที่พัฒนาแล้วให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรกับประเทศกำลังพัฒนา โดยการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีนำเข้าสินค้า ทำให้ประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษ GSP มีแต้มต่อทางภาษี เมื่อเปรียบเทียบประเทศที่ไม่ได้รับสิทธิ ซึ่งเป็นการให้ฝ่ายเดียวประเทศผู้ได้รับสิทธิไม่ต้องให้ตอบแทนแต่อย่างใด เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาได้มีโอกาสขยายการค้าไปยังประเทศที่ให้สิทธิพิเศษได้เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจการค้าได้เปลี่ยนแปลงไป ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศผู้ให้สิทธิ GSP จึงได้กำหนดเกณฑ์การพิจารณาตัดสิทธิ GSP กับประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (Upper Middle Income Country) ระยะเวลา 3 ปีติดต่อกันระหว่างปี 2556-2558 และมีมูลค่าการส่งออกไปทั่วโลกมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 1 ซึ่งประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา และในระหว่างปี 2556-2558 มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปทั่วโลกมีสัดส่วนร้อยละ 1.21 1.20 และ 1.29 ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มที่พัฒนาและมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกมากขึ้น ส่งผลให้ญี่ปุ่นตัดสิทธิ GSP ที่เคยให้กับประเทศไทยตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป

กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศและกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ติดตามความคืบหน้าและผลักดันเพื่อนำสินค้าทั้ง 6 รายการดังกล่าวเข้าไว้ในกลุ่มสินค้าที่จะเจรจาทบทวนใหม่ในรอบการทบทวนทั่วไป (General Review) ภายใต้ความตกลง JTEPA กับญี่ปุ่นในปี 2560 นี้ เพื่อให้ผู้ส่งออกไทยได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากการปรับเกณฑ์การตัดสิทธิ GSP ของญี่ปุ่น ทั้งนี้ แม้ไทยจะถูกตัดสิทธิโครงการ GSP ญี่ปุ่นในปี 2562 แต่ผู้ประกอบการ/ผู้ส่งออกไทย ยังคงสามารถใช้ประโยชน์ทางภาษีจากความตกลง JTEPA และอาเซียน-ญี่ปุ่น ได้เหมือนเดิม โดยรายการสินค้าบางรายการที่อยู่ในกลุ่มที่จะถูกตัดสิทธิภายใต้โครงการ GSP-ญี่ปุ่น ก็สามารถเปลี่ยนมาใช้สิทธิภายใต้ทั้ง 2 ความตกลงที่ไทยมีกับญี่ปุ่นได้” นางอภิรดี กล่าว