ส่งปปช.เชือดโกงไอแบงก์

25 เม.ย. 2560 | 02:00 น.
ธนาคารอิสลามส่งสำนวนปปช.เร่งเอาผิดทีมทุจริตปล่อยกู้ผิดประเภท ทำแบงก์เสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท เตรียมเพิ่มทุน 1.8 หมื่นล้านบาท เสนอครม.อนุมัติมิถุนายนนี้ หลังทำประชาพิจารณ์เพิ่มสัดส่วนหุ้นจากกระทรวงการคลังมากกว่า 49%

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ ซูเปอร์บอร์ดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับธนาคารอิสลาม จากการปล่อยสินเชื่อผิดวัตถุประสงค์ เป็นสินเชื่อที่ไม่ใช่สินเชื่ออิสลาม (Non Muslim) วงเงินประมาณ 50,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของสินเชื่อทั้งหมด ส่งผลให้ธนาคารอิสลามฯต้องเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ

ล่าสุดธนาคารอิสลามโดยนายชันวัฒน์ อุทัยวรรณ ประธานกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ได้รายงานข้อมูลเพิ่มเติม ว่า ธนาคารตั้งคณะติดตามการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดจากการปล่อยกู้ผิดประเภทจนเกิดความเสียหายต่อธนาคารแล้ว ซึ่งมีทั้งพนักงานที่ยังปฎิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบันที่จะต้องสอบสวนทางวินัยและสอบสวนเชิงข้อเท็จจริงที่จะมีโทษทางอาญา

ขณะที่กระบวนการภายนอกฝ่ายเจ้าทุกข์ คือ ธนาคารอิสลามได้ดำเนินคดีตามกฎหมายแล้วโดยทางธนาคารฯ ได้ส่งสำนวนไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) โดยจะทำงานร่วมกับทั้ง 3 หน่วยงานเพื่อทำให้ผลการสอบหาผู้กระทำผิดเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนกระบวนการภายใต้แผนฟื้นฟู ขณะนี้ได้ทำการแยกหนี้ดีและหนี้เสียแล้ว โดยหนี้ดีวงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาทธนาคารจะบริหารเอง ส่วนหนี้เสียกระทรวงการคลังได้โอนให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IAM)ไปแล้วประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท จากข้อมูลพบว่า 80% ของหนี้เสีย 5 หมื่นล้านบาท กระจุกตัวอยู่ในลูกหนี้เพียง 200 กว่ารายเท่านั้น

ดังนั้นหนี้เสียของธนาคารอิสลาม คนร. จำเป็นที่จะต้องเข้าไปจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นตามแนวทางที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ธนาคารรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาผู้กระทำผิดจนทำให้ธนาคารต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู จากหนี้ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามตามกรอบการทำงานหลังจากที่กระทรวงการคลังได้ทำการตั้ง IAM ที่ได้ทำการแยกหนี้ดีและหนี้เสียออกจากกันแล้วคาดว่าในเดือนมิถุนายน 2560 กระทรวงการคลังจะสามารถเพิ่มทุนให้กับธนาคารอิสลามฯ ตามแผนฟื้นฟูกิจการวงเงิน 1.8-2 หมื่นล้านบาท โดยชำระเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินและนำมาเพิ่มทุนให้ไอแบงก์เพื่อให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) อยู่ที่ 0% จากปัจจุบันติดลบ 27% เมื่อ BIS ปรับดีขึ้นจะส่งผลดีต่อการหาพันธมิตร

“การจะหาพันธมิตรไม่ว่ารายไหนก็ตาม หากธนาคารยังไม่สามารถปลดล็อกจากหนี้เสียที่เกิดขึ้นได้ก็จะทำให้ไมมีรายไหนที่กล้าเข้ามาร่วมทุน”

ทั้งนี้ในที่ประชุมซูปเปอร์บอร์ด ยังหารือเรื่อง พ.ร.บ.ธนาคารอิสลาม ในแง่ของการแก้ไขกฎหมายตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้ ที่กำหนดในส่วนของสัดส่วนการถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง แต่เดิมถือหุ้นในธนาคารได้ไม่เกิน 49% ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความเป็นไปได้ที่กระทรวงการคลังจะถือหุ้นในสัดส่วนที่มากกว่า 49% แต่จะต้องทำประชาพิจารณ์ (Hearing)คาดว่าจะเสนอผลการทำประชาพิจารณ์กลับไปให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณ์ในเดือนพฤษภาคม 2560 นี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,255 วันที่ 23 - 26 เมษายน พ.ศ. 2560